ชื่อเรื่อง การพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจารณญาณ
ของนักเรียนโรงเรียนมหาชัยพิทยาคาร
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26
ผู้วิจัย นายอธิการ สุขศรี
หน่วยงาน โรงเรียนมหาชัยพิทยาคาร
ปีที่พิมพ์ 2565
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนโรงเรียนมหาชัยพิทยาคารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26 และ 2) ศึกษาผลการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนโรงเรียนมหาชัยพิทยาคารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26
โดยใช้วิจัยเชิงปฏิบัติการ 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1) การวางแผน (Planning) 2) การปฏิบัติ (Action) 3) การสังเกต (Observation) และ 4) การสะท้อนผล (Reflection) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ร่วมศึกษา และกลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้มาทั้งการสุ่มแบบง่าย และการสุ่มแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ เอกสารประกอบ แบบวัดความรู้ครู แบบประเมินความสามารถด้านการเขียนอย่างมีวิจารณญาณ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการศึกษาการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนโรงเรียนมหาชัยพิทยาคารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26
จากการศึกษาเอกสาร วรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า การพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนโรงเรียนมหาชัยพิทยาคารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26 มี 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) ระบบงานและกลไก 4) แนวการประเมิน และ 5) เงื่อนไขการนำไปใช้ ภายใต้ 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ 1 การจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจารณญาณ ใน 6 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 หลักการแนวคิดทฤษฎีพื้นฐาน ด้านที่ 2 วัตถุประสงค์ของการพัฒนา ด้านที่ 3 กระบวนการจัดการเรียนรู้ ด้านที่ 4 ระบบสังคม ด้านที่ 5 หลักการตอบสนอง และ ด้านที่ 6 ระบบสนับสนุน ใน 2 สาระการเรียนรู้ ได้แก่ (1) เขียนย่อจากเรื่องที่อ่าน และ (2) เขียนรายงานการศึกษาค้นคว้าและโครงงานของนักเรียนใน 2 สาระการเรียนรู้ ได้แก่ 1) เขียนย่อจากเรื่องที่อ่าน และ 2) เขียนรายงานการศึกษาค้นคว้าและโครงงาน ประเด็นที่ 2 กิจกรรมพัฒนาครู มี 3 กิจกรรม ได้แก่ 1) การฝึกอบรมอย่างเข้ม 2) การพัฒนาตนเอง 3) การเป็นพี่เลี้ยง และประเด็นที่ 3 การนำสู่ปฏิบัติ มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ การวางแผน การปฏิบัติ การสังเกตและการสะท้อนผล หลังจากนั้นสนทนากลุ่มผู้ศึกษาและเครือข่ายผู้ศึกษา จำนวน 4 คน เพื่อกำหนดแนวทางการนำสู่การปฏิบัติผ่าน 4 ขั้นตอน (การวางแผน การปฏิบัติ การสังเกตและการสะท้อนผล) และสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา (เอกสารประกอบ แบบวัดความรู้ครู แบบสังเกต แบบสำรวจรายการ แบบประเมินความสามารถด้านการเขียนอย่างมีวิจารณญาณ แบบสัมภาษณ์ความพึงพอใจของนักเรียนและแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง)
2. ผลการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนโรงเรียนมหาชัยพิทยาคารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26
2.1 การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนโรงเรียนมหาชัยพิทยาคารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26 จากข้อมูลการสัมภาษณ์และบันทึกการสังเกตทำให้ผู้ร่วมการศึกษาเกิดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการดำเนินงานต่าง ๆ สามารถกำหนดกระบวนการดำเนินงานตามแผนงาน มีหลักการแนวทางและวิธีการที่ชัดเจนและนำข้อมูลที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้มาประชุมปรึกษาหารือวิเคราะห์วิจารณ์ร่วมกันสรุปรายงานต่อที่ประชุมเพื่อวางแผนพัฒนาต่อไป
2.2 การอบรมปฏิบัติการ พบว่า ครูเข้าร่วมการอบรมปฏิบัติการครบทั้ง 2 วัน สามารถทำใบงานหน่วยที่ 1-9 ได้ถูกต้องและเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนวัดความรู้ของครูก่อนและหลังอบรม พบว่า มีค่าเท่ากับ 41.67/86.67 แสดงว่า หลังการอบรมครูมีความรู้เพิ่มขึ้น
2.3 การนิเทศ ติดตามผลครูในการนำความรู้สู่การปฏิบัติจริงในชั้นเรียน วงรอบที่ 1-2 พบว่า วงรอบที่ 1 มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.48 ครูทำไม่ได้หรือต้องการพัฒนามากและวงรอบที่ 2 มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 2.65 ครูทำได้ดีมากและเมื่อเปรียบเทียบกับผลการนิเทศ ติดตามผลครูในการนำความรู้สู่การปฏิบัติจริงในชั้นเรียนวงรอบที่ 1 และวงรอบที่ 2 พบว่า มีค่าเท่ากับ 1.48/2.65 แสดงว่า วงรอบที่ 2 ครูนำความรู้สู่การปฏิบัติจริงในชั้นเรียนเพิ่มขึ้น
2.4 การนำสู่ปฏิบัติ มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ การวางแผน การปฏิบัติ การสังเกตและการสะท้อนผล ซึ่งเป็นไปตามที่วางแผนที่วางไว้และเมื่อดำเนินการสิ้นสุดวงรอบที่ 1 ดำเนินการประเมินความสามารถด้านการเขียนอย่างมีวิจารญาณของนักเรียน ครั้งที่ 1 และเมื่อดำเนินการสิ้นสุดวงรอบที่ 2 ดำเนินการประเมินความสามารถด้านการเขียนอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียน ครั้งที่ 2 และสอบถามความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง พบว่า ผลการประเมินการเขียนอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ครั้งที่ 1 ภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ครั้งที่ 2 ภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด แสดงว่า หลังการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจารณญาณ นักเรียนมีความสามารถในการเขียนอย่างมีวิจารณญาณเพิ่มขึ้น รวมถึงผู้เกี่ยวข้องพอใจมากที่สุดต่อการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนโรงเรียนมหาชัยพิทยาคาร นักเรียนอยากให้จัดอย่างต่อเนื่องเพราะได้ฝึกคิด ฝึกวิเคราะห์และฝึกเขียนอย่างหลากหลาย