ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา (Youth Counselor : YC) ตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนนครขอนแก่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น
ผู้วิจัย นายอภิชาติ อุ่นเกิด
ปีที่ทำวิจัย 2564
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา (Youth Counselor : YC) ตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนนครขอนแก่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต ของโครงการ โดยกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ รองผู้อำนวยการโรงเรียน ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียน รวมจำนวน 761 คน ได้มาโดยการคัดเลือกแบบเจาะจงและการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ คือ แบบประเมินมีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ คือ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบกับเกณฑ์การประเมิน ผลการประเมินโครงการ พบว่าโครงการนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา (Youth Counselor : YC) ตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนนครขอนแก่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น มีผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (X ̅=4.57, S.D.=0.59) ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ ได้แก่ ด้านผลผลิต (X ̅=4.73, S.D.=0.59) ด้านกระบวนการ (X ̅=4.54, S.D.=0.73) ด้านบริบท (X ̅=4.51, S.D.=0.67) และด้านปัจจัยเบื้องต้น (X ̅=4.51, S.D.=0.77) ตามลำดับ ดังนี้
1. ด้านบริบทของโครงการ โดยรวมมีระดับความสอดคล้องอยู่ในระดับมากที่สุด (X ̅=4.51, S.D.=0.67) ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ โดยโครงการมีความสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของสำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีระดับความสอดคล้องอยู่ในระดับมากที่สุด
2. ด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ โดยรวมมีระดับความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด (X ̅=4.51, S.D.=0.77) ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ ได้แก่ ด้านภาคีเครือข่าย ด้านการบริหารจัดการ ด้านบุคลากร ด้านงบประมาณ และด้านวัสดุอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้ ตามลำดับ
3. ด้านกระบวนการของโครงการ โดยรวมมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด (X ̅=4.54, S.D.=0.73) ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ โดย กิจกรรมการคัดกรองนักเรียน กิจกรรมการป้องกันและแก้ไข และกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนา มีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนกิจกรรมการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล และกิจกรรมการส่งต่อนักเรียน มีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก ตามลำดับ
4. ด้านผลผลิตของโครงการ โดยรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด (X ̅=4.73, S.D.=0.59) ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ โดยนักเรียนได้รับการพัฒนาในด้านเสริมสร้างทักษะชีวิตและการคุ้มครองนักเรียน ด้านความสามารถในการเรียนรู้ ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน และด้านการป้องกันและแก้ไขด้านการเรียน มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด ตามลำดับ
สำหรับความพึงพอใจต่อโครงการนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา (Youth Counselor : YC) ตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนนครขอนแก่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (X ̅=4.60, S.D.=0.69) ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ โดยมีความพึงพอใจมากที่สุด ได้แก่ นักเรียน (X ̅=4.61, S.D.=0.71) ผู้ปกครองนักเรียน (X ̅=4.63, S.D.=0.70) และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (X ̅=4.58, S.D.=0.58) ตามลำดับ