รายงานการประเมินโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ในโรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครพนม มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ประเมินสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation) 2)เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) 3)ประเมินกระบวนการดำเนินงาน (Process Evaluation) 4)ประเมินผลผลิต (Product Evaluation) ประกอบด้วย 4.1)ประเมินเกี่ยวกับผลที่เกิดจากการพัฒนาอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ 4.2)ประเมินเกี่ยวกับความพึงพอใจทีมีต่อโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม 5)เพื่อประเมินผลกระทบ (Impact Evaluation) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 162 คน กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการโดยใช้รูปแบบการประเมินโครงการ โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPPI model ทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่การประเมินด้านสภาวะแวดล้อม การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า การประเมินด้านกระบวนการ การประเมินด้านผลผลิต และการประเมินด้านผลกระทบ จำนวนทั้งหมด 55 ข้อ หาค่าอำนาจจำแนกแบบสอบถามเป็นรายข้อ ค่าอำนาจจำแนก 0.22 ถึง 0.66 หาค่าความเชื่อมั่นสัมประสิทธิ์แอลฟาทั้งฉบับได้ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.96 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินโครงการปรากฏ ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation) เกี่ยวกับความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ นโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด วิสัยทัศน์ของโรงเรียน ความจำเป็นและความต้องการ ความเป็นไปได้ พบว่า ผลการการประเมินโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ใน โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ โดยรวมมีความสอดคล้องอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยรวม 4.50 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.63
2. ผลการวิเคราะห์ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) เกี่ยวกับความพร้อมของบุคลากร ความเพียงพอและการจัดสรรงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ ความเหมาะสมของสถานที่ ความเหมาะสมในการบริหารจัดการ การสนับสนุนจากชุมชน การระดมทรัพยากร พบว่า โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยรวม 4.69 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.40
3. ผลการวิเคราะห์ด้านกระบวนการ (process) เกี่ยวกับ ขั้นตอนการจัดกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ การดำเนินงานเป็นไปตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ความแตกต่างระหว่างการปฏิบัติจริงกับที่คาดหวัง มีปัญหาหรือสิ่งต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างและมีข้อเสนอแนะอย่างไรด้วยวงจรคุณภาพ (PDCA) ประกอบด้วย ขั้นตอน การวางแผน (Plan) ขั้นตอนการดำเนินงาน (Do) ขั้นตอนการตรวจสอบและติดตาม (Check) และขั้นตอนการปรับปรุงการดำเนินการอย่างเหมาะสม (Act) พบว่า โดยภาพรวมมีความเหมาะสม/ระดับปฏิบัติ ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.55 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.69
4. ผลการวิเคราะห์ด้านผลผลิต (product) เกี่ยวกับ ผลที่เกิดจากการพัฒนาอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ในโรงเรียน และความพึงพอใจต่อสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร สิ่งแวดล้อมภายนอกอาคาร สนามกีฬา แหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียน การรักษาความปลอดภัยและการป้องกันอุบัติเหตุ ประกอบด้วย
4.1 ผลการประเมินด้านผลผลิตเกี่ยวกับผลที่เกิดจากการพัฒนาอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ในโรงเรียน พบว่า โดยภาพรวมมีความคิดเห็นความพึงพอใจในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.51 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.50
4.2 ผลการประเมินด้านผลผลิตเกี่ยวกับความพึงพอใจ ที่มีต่อโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ในโรงเรียน พบว่า โดยภาพรวมมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.53 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.51
5. ผลการวิเคราะห์ความคิดเห็นของผู้บริหาร ด้านผลกระทบ (impact) เกี่ยวกับความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการด้านอาคารสถานที่ด้าน การพัฒนาคุณภาพนักเรียน การจัดการเรียนการสอนของครู ความร่วมมือของชุมชน พบว่า โดยภาพรวมระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.56 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.64