ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน โรงเรียนบ้านหินวัว
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง
ชื่อผู้วิจัย นางสาวสุลาวรรณ์ เสวตจันทร์
ปี พ.ศ. 2564
บทสรุปสําหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน โรงเรียนบ้านหินวัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนองในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบทของโรงเรียน ในด้านความพร้อมในการปฏิรูปการเรียนรู้ 2) ประเมินปัจจัยในการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน 3) ประเมินกระบวนการที่ใช้ในการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน และ 4) ประเมินผลผลิตของโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน โรงเรียนบ้านหินวัว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPP model ของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ ครูและนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านหินวัว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง ปีการศึกษา 2564 ครู จำนวน 7 คน นักเรียน จำนวน 68 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 68 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย แบบสอบถามประเมินโครงการ 4 ด้าน เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติพื้นฐาน ซึ่งได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที่ใช้หาค่าความตรงของเครื่องมือ (Validity) ใช้สูตร IOC หาค่าความเชื่อมั่น (Reliability) ของแบบสอบถาม โดยการหาค่าความเชื่อมั่น แบบ Alpha Co-efficient ตามสูตรของครอนบัค (Cronbach)
ผลการประเมิน
การประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน โรงเรียนบ้านหินวัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง สรุปผลได้ดังนี้
1. ด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อมของโรงเรียน
1.1 ด้านการปฏิรูปการเรียนรู้ ผลการประเมินพบว่า โรงเรียนบ้านหินวัว มีความด้อย ในด้านการจัดกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติจริงการพัฒนาด้านจริยธรรมของสถานศึกษา การพัฒนาบุคลากรในด้านการปฏิบัติงาน และความก้าวหน้าทางวิชาชีพครู การวิจัยปฏิบัติการเพื่อใช้ปรับปรุงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมสอดคล้องกับท้องถิ่น การใช้สื่อ / แหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสมในการจัดการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมในการบริหารงานของโรงเรียน
1.2 ด้านการหาความต้องการจำเป็น ผู้แทนครูผู้สอน หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้หัวหน้างานภารกิจของโรงเรียนส่วนใหญ่มีความเห็นและคัดเลือกโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนเป็นโครงการที่มีความต้องการจำเป็นเพื่อการพัฒนาเป็นลำดับสอง
2. ความเหมาะสมด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ
2.1 ด้านบุคลากร มีความเหมาะสมต่อการดำเนินงานตามโครงการ เพราะบุคลากรของโรงเรียนด้านครูผู้สอนและครูผู้สนับสนุนการสอนเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านพระพุทธศาสนาแยกออกเป็นคณะสงฆ์ และผู้ที่มีประสบการณ์ในการอบรมด้านโรงเรียนวิถีพุทธ
2.2 ด้านงบประมาณ มีความเหมาะสมเพียงพอต่อการดำเนินงานตามโครงการโดยได้รับงบประมาณสนับสนุน จำนวน 8,000 บาท ตามแผนปฏิบัติงานงบประมาณของโรงเรียนซึ่งแยกรายจ่ายตามโครงการ ดังนี้ ค่าใช้สอย จำนวน 4,600 บาท และค่าวัสดุ/ อุปกรณ์ จำนวน 3,400 บาท ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า โรงเรียนมีงบประมาณเพียงพอในการดำเนินงานตามโครงการ
2.3 ด้านวัสดุ / อุปกรณ์ มีความเหมาะสมเพียงพอต่อการดำเนินงานตามโครงการ เพราะเปรียบเทียบกับวัสดุ / อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการดำเนินงานตามโครงการกับวัสดุ / อุปกรณ์ที่มีอยู่ เช่น วัสดุ / อุปกรณ์ และเอกสารประกอบการจัดกิจกรรมเพียงพอในการดำเนินงาน
3. ด้านกระบวนการดำเนินงาน
จากการประเมินกระบวนการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนโรงเรียนบ้านหินวัว ด้านการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแก่ผู้เรียน การจัดกระบวนการเรียนการสอนด้านคุณธรรมจริยธรรมของครู และการนิเทศภายใน สรุปได้ดังนี้
3.1 การจัดกิจกรรมคุณธรรมจริยธรรมแก่ผู้เรียนอยู่ในเกณฑ์น่าพึงพอใจมาก โดยเปรียบเทียบระยะเวลาที่วางแผนการปฏิบัติกิจกรรมกับระยะเวลาที่ปฏิบัติจริง มีกระบวนการดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่กำหนด และสอดคล้องกับระยะเวลาปฏิบัติจริง คือ ความเหมาะสมของขั้นตอนแผนงาน โครงการ ความเหมาะสมของการมีส่วนร่วมของบุคลากรในการวางแผนงาน โครงการ ความเหมาะสมของวัน เวลา ความเหมาะสมของงบประมาณ ความเหมาะสมของวัสดุ/อุปกรณ์ และความเหมาะสมของแผนงานดำเนินการ
3.2 การจัดกิจกรรมกระบวนการเรียนการสอนด้านคุณธรรมจริยธรรมของครู ได้ดำเนินการปฏิบัติจริงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งสามารถปฏิบัติจริงได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้นจึงสรุปได้ว่ากระบวนการดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่กำหนด และสอดคล้องกับระยะเวลาที่ปฏิบัติจริง
3.3 การนิเทศภายใน ผู้บริหาร และครูผู้รับผิดชอบโครงการได้ดำเนินการนิเทศภายใน ผลการนิเทศภายในพบว่า ครูมีทัศนคติที่ดีต่อการนิเทศภายในมากที่สุด รองลงมาคือ การนิเทศกิจกรรมเป็นไปตามแผนการนิเทศ และผลการนิเทศครูมีความพึงพอใจในระดับมาก ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
4. ผลผลิตของโครงการ
จากการประเมินผลผลิตของโครงการพัฒนาคุณธรรมของผู้เรียน โรงเรียนบ้านหินวัว ตามเกณฑ์การประเมินพบว่า ครูมีพัฒนาการเรียนการสอนด้านคุณธรรมจริยธรรมเพิ่มขึ้น 80% นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจทักษะความประพฤติด้านคุณธรรมจริยธรรม เพิ่มขึ้น 80% สรุปได้ ดังนี้
4.1 ครูมีพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนการสอนด้านคุณธรรมจริยธรรมเพิ่มขึ้น 80% โดยครูผู้สอนสามารถกำหนดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติตามหลักคุณธรรมจาก 68 คนปฏิบัติจริง 66 คน คิดเป็นร้อยละ 98.44 ครูใช้สื่อประกอบการสอนตรงตามจุดประสงค์ จำนวน 7 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ครูปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีตามหลักคุณธรรม คิดเป็นร้อยละ 100 และมีการประเมินผล ตามสภาพจริงคิดเป็นร้อยละ 100 ดังนั้น ครูที่ผ่านการอบรมด้านคุณธรรมจริยธรรมตามโครงการจึงมีพัฒนาการการจัดกระบวนการเรียนการสอนด้านคุณธรรมจริยธรรมโดยภาพรวมร้อยละ 100 สอดคล้องกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้
4.2 นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจ ทักษะความประพฤติด้านคุณธรรมจริยธรรม 90.09 มีระเบียบวินัย ร้อยละ 97.02 และมีกริยามารยาทเรียบร้อย ร้อยละ 96.03 ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ข้อเสนอแนะ
จากผลการวิจัยการประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน โรงเรียนบ้านหินวัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง เพื่อให้โครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน โรงเรียนบ้านหินวัว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้รับประโยชน์ร่วมกันในชุมชน จึงควรดําเนินการโครงการนี้ต่อไป และผู้เกี่ยวข้องควรนําผลการประเมินไปปรับปรุง และพัฒนาการดําเนินโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้นตามข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. ครูที่ปรึกษากิจกรรมต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ ควรสร้างความตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน โรงเรียนบ้านหินวัว ไปใช้ในชีวิตประจำวันที่ส่งผลต่อผู้เรียน
2. ด้านสภาวะแวดล้อม ผู้บริหารควรมีการประสานงานกับชุมชนในพื้นที่หรือท้องถิ่นใกล้เคียงให้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและจัดการเรียนรู้โครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน โรงเรียนบ้านหินวัว ในด้านต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมมีความสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและชุมชนมากที่สุด
3. ด้านปัจจัยนำเข้า ควรส่งเสริมให้ชุมชนได้เห็นประโยชน์และความสำคัญเกี่ยวกับ การดำเนินงานตามโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน โรงเรียนบ้านหินวัว โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ทั้งนี้เพื่อจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทุกระดับ ผู้นำชุมชน ผู้นำส่วนท้องถิ่นและองค์กรเอกชน เข้ามาช่วยเหลือ และสนับสนุน การดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน โรงเรียนบ้านหินวัว ให้ต่อเนื่อง จริงจัง และยั่งยืน
4. ด้านกระบวนการดำเนินงาน ควรมีการกำหนดวัน เวลา และระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรมอย่างชัดเจน กำหนดรูปแบบกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนให้มากยิ่งขึ้น และดำเนินกิจกรรมโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน โรงเรียนบ้านหินวัวอย่างต่อเนื่อง
5. ด้านผลผลิต ควรกำหนดกิจกรรมในโครงการให้มีความครอบคลุมเหมาะสมกับความรู้ความสามารถของผู้เรียนแต่ละช่วงวัย เน้นการดำเนินกิจกรรมที่ต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนมีวินัย ใฝ่เรียนรู้ มีจิตอาสา และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน หากโครงการไม่เหมาะสมหรือพัฒนาต่อเนื่องไม่ได้ก็สามารถปรับเปลี่ยนใหม่ให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชน