บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียน
บ้านพรุแชง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 3 ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบทของโครงการ เกี่ยวกับความสอดคล้องของความต้องการจำเป็น วัตถุประสงค์โครงการ และความเป็นไปได้ของโครงการ ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการเกี่ยวกับความเพียงพอของบุคลากร งบประมาณ และทรัพยากรต่าง ๆ ประเมินกระบวนการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และประเมินผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับปริมาณและคุณภาพของผลผลิตผู้เข้าร่วมโครงการ โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model กลุ่มเป้าหมายของการประเมินโครงการครั้งนี้คือประชากรทั้งหมด ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 คน ครูผู้สอน จำนวน 16 คน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 138 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 138 คน ได้มาโดยการเลือกแบบแบบเจาะจง ( Purposive Selection )
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล จำนวน 6 ฉบับ ผ่านการตรวจสอบความตรงของเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน จากนั้นนำไปหาค่าอำนาจจำแนกและค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อมั่นทั้งฉบับก่อนนำไปใช้ โดยค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อมั่นของแบบประเมินด้านบริบท เท่ากับ 0.97 แบบประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้น เท่ากับ 0.95 แบบประเมินด้านกระบวนการ เท่ากับ 0.90 แบบประเมินด้านผลผลิต เท่ากับ 0.97 และแบบประเมินความพึงพอใจต่อโครงการ จำนวน 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 เท่ากับ 0.99 ฉบับที่ 2 เท่ากับ 0.93 การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยผู้ประเมินเก็บรวบรวมเอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป โดยใช้สถิติ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) เปรียบเทียบกับเกณฑ์ผลการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ ดังนี้
ผลการประเมิน
ผลการประเมินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านพรุแชง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 3 โดยรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับ
มาก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
1. ด้านบริบท (Context) ของโครงการ ภาพรวมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด โดยมีความสอดคล้องกับความต้องการจำเป็น วัตถุประสงค์ของหน่วยงานต้นสังกัดและโรงเรียน รวมทั้งมีความเป็นไปได้ อยู่ในระดับมาก
2. ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ของโครงการ ภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด ได้แก่ ความเพียงพอของบุคลากร งบประมาณ สื่อ เอกสาร วัสดุต่าง ๆ และการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย
3. ด้านกระบวนการ (Process) ของโครงการ ภาพรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด โดยการดำเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และการนิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผลพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนการวางระบบการบริหารจัดการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน การให้บริการแนะแนวในโรงเรียน การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย และการผดุงรักษา อยู่ในระดับมาก
4. ด้านผลผลิต (Product) ของโครงการโดยรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ โดยนักเรียน ได้รับการพิทักษ์ คุ้มครอง และดูแลช่วยเหลืออย่างทั่วถึงทันเวลาและถูกวิธี ได้รับการส่งเสริมให้มีทักษะชีวิตและมีความสามารถในการปรับตัว ได้รับการพัฒนาในด้านคุณลักษณะ มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด ตามลำดับ
ความพึงพอใจต่อโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านพรุแชง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฏร์ธานี เขต 3 โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ใน ระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ โดยนักเรียนมีความพึงพอใจมากที่สุด คือการให้ความรู้แก่นักเรียนเรื่องสารเสพติดและการป้องกันตนเองจากสารเสพติด กรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครองนักเรียนมีความพึงพอใจมากที่สุด คือการช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้กิจกรรมโฮมรูมในทุกเช้าก่อนเข้าเรียน การเสริมสร้างทักษะชีวิตและการคุ้มครองนักเรียน ตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน 5 ขั้นตอน
นักเรียนที่มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ลดลงทุกรายการ ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ โดยรายการที่ลดลงมากที่สุดคือ ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับ ไม่มีการวางแผนการเรียน และการใช้ ชีวิตประจำวัน และไม่ยอมรับข้อบกพร่องของตนเอง
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1. ควรกำหนดหลักการและเหตุผลของโครงการให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานต้นสังกัดมากยิ่งขึ้น
2. ผู้บริหารและครูผู้รับผิดชอบควรศึกษาหาความรู้ความเข้าใจและความสามารถในการดำเนินโครงการเพิ่ม
3. ควรให้การสนับสนุนจัดงบประมาณจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนานักเรียนตามความเหมาะสม โดยการขอความร่วมมือกับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและภาคีเครือข่ายเพื่อ
สนับสนุนกิจกรรม
4. การจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียน ควรสำรวจความต้องการของนักเรียน สร้างบรรยากาศที่ดี และควรมีการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารที่รวดเร็วระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง
นักเรียน
5. การจัดกิจกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้เรียน ควรจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับ
ปัญหาของนักเรียน ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมตามความสนใจและความถนัดของผู้เรียนตาม
ขอบข่ายคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และควรชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้ปกครองนักเรียนอย่างเป็น
ขั้นตอนถึงแนวทางและวิธีการแก้ปัญหาผู้เรียน
6. ควรนิเทศ ติดตาม และประเมินผลตามกระบวนการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเพื่อได้สารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น
ข้อเสนอแนะในการประเมินโครงการครั้งต่อไป
1. ควรศึกษากลยุทธ์การดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
2. ควรศึกษาการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)
3. ควรศึกษาแนวทางการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนโดยใช้หลักการมีส่วนร่วม