บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาบริบท ปัญหา ความต้องการ ศักยภาพในการพัฒนาด้านการศึกษาระดับปฐมวัยในจังหวัดร้อยเอ็ด 2) เพื่อพัฒนาของเล่นโบราณ เพื่อส่งเสริมทักษะสะเต็มศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย 3) เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ด้วยของเล่นโบราณ เพื่อส่งเสริมทักษะสะเต็มศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัย และ 4) เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของโครงการวิจัยย่อยภายใต้แผนงานวิจัย เพื่อสร้างและพัฒนานักวิจัยให้มีศักยภาพเข้มแข็งในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูระดับปฐมวัย นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และผู้ปกครองในจังหวัดร้อยเอ็ด ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 100 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า ได้แก่ คู่มือการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาของเล่นโบราณ แบบทดสอบก่อนและหลังฝึกอบรมการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาของเล่นโบราณ และแบบประเมินความพึงพอใจของครูระดับปฐมวัยที่มีต่อการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาของเล่นโบราณ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ร้อยละ และค่า t test โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. แนวทางในการจัดประสบการณ์เตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยของครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ในจังหวัดร้อยเอ็ด พบว่า ครูมีในการจัดประสบการณ์เตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.68 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.55 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ซึ่งสามารถเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้ ด้านสื่อการเรียนการสอนมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านจัดประสบการณ์ และด้านการประเมินพัฒนาการ ตามลำดับ
2. ความสามารถด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูปฐมวัย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ในจังหวัดร้อยเอ็ด พบว่า การจัดกิจกรรมด้านการจัดประสบการณ์ การเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาของเล่นโบราณ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.66 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.52 เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย พบว่า กิจกรรมป๋องแป๋งมากที่สุด รองลงมาคือ กิจกรรมลูกข่างตะปู และกิจกรรมจับคู่ดูสิ ตามลำดับ
3. ผลการเปรียบเทียบคะแนนการทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ก่อนและหลังการใช้การจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาของเล่นโบราณ สำหรับครูระดับปฐมวัยในจังหวัดร้อยเอ็ดมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยมีคะแนนเฉลี่ยหลังการจัดการเรียนรู้สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยก่อนการจัดการเรียนรู้โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาของเล่นโบราณ
4. ครูระดับปฐมวัยในจังหวัดร้อยเอ็ด มีความคิดเห็นต่อการพัฒนาและการจัดกิจกรรมการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาของเล่นโบราณ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.57) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ครูมีการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับแบบแผน การทดลองใช้นวัตกรรมการเรียนการสอนในการแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม รองลงมาคือ ครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำนวัตกรรมการเรียนการสอนไปใช้ในชั้นเรียน และครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างเครื่องมือ การบันทึกผลข้อมูลการใช้นวัตกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้อย่างถูกต้อง ตามลำดับ
คำสำคัญ: การพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้/การจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา
ของเล่นโบราณ/การพัฒนาของเล่นโบราณ