ชื่อเรื่อง การพัฒนาบุคลากรด้านการดำเนินงานความปลอดภัยในสถานศึกษา ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ผู้วิจัย นายอนุสรณ์ ปะทะวัง
หน่วยงาน ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ปีที่พิมพ์ 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายของการวิจัยเพื่อ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหา และแนวทางการแก้ปัญหาการดำเนินงานความปลอดภัยในสถานศึกษา ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2) เพื่อศึกษาผลการพัฒนาบุคลากรศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้มีความรู้ความเข้าใจสามารถดำเนินงานความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยดำเนินการตามกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (PAOR) ประกอบด้วย การวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Observation) และการสะท้อนผล (Reflection) กลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนาคือ กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ (AIC) การอบรมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศแบบมีส่วนร่วม กลุ่มเป้าหมายและผู้ให้ข้อมูล ประกอบด้วย กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 67 คน ประกอบด้วย ครู จำนวน 43 คน และบุคลากรสนับสนุน จำนวน 24 คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม จำนวน 15 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ หัวหน้างานทั้ง 4 งาน จำนวน 4 คน ครูผู้รับผิดชอบงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา จำนวน 1 คน และคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง จำนวน 9 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 1) แบบสอบถามสภาพการดำเนินงานความปลอดภัยในสถานศึกษา 2) แบบบันทึกการประชุม 3) แบบสังเกต 4) แบบสัมภาษณ์ 5) แบบบันทึกการนิเทศ 6) แบบสอบถามทัศคติต่อสถานศึกษา และ 7) แบบทดสอบ การตรวจสอบข้อมูล ใช้การตรวจสอบข้อมูลหลายมิติ ข้อมูลเชิงปริมาณนำเสนอโดยใช้ตารางเปรียบเทียบ และนำเสนอผลการวิจัยแบบพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัย พบว่า
1. สภาพปัญหา และแนวทางการแก้ปัญหาการดำเนินงานความปลอดภัยในสถานศึกษา ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบว่า 1) มีการกำหนดมาตรการดำเนินงานความปลอดภัยในสถานศึกษาอย่างชัดเจน และพัฒนากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และกิจกรรมส่งเสริมผู้เรียนในด้านต่าง ๆ อยู่ในระดับมาก แต่ในการปฏิบัตินั้นยังถูกละเลยโดยผู้ปฏิบัติในระดับสถานศึกษาโดยเหตุผลหลายประการ เช่น บุคลากรไม่เพียงพอ ภารกิจมาก ขาดงบประมาณในการดำเนินงาน 2) ครูและบุคลากร ประเมินตนเอง พบว่า มีความสามารถในการดำเนินงานความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ( =2.87, =0.61) 3) ครูและบุคลากร มีความต้องการพัฒนาตนเองเกี่ยวกับการดำเนินงานความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( =4.82, =0.39) 4) ครูและบุคลากร มีความต้องการเกี่ยวกับการพัฒนาการดำเนินงานความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( =4.81, =0.46) โดยมีความต้องการพัฒนามากที่สุด คือ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้มีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติตามประเด็นเนื้อหา รองลงมาคือ จัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ (AIC)
2. ผลการพัฒนาบุคลากรศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถดำเนินงานความปลอดภัยในสถานศึกษา ปรากฎดังนี้
2.1 ผลการประเมินสภาพการดำเนินงานความปลอดภัยในสถานศึกษาก่อนการพัฒนา และหลังการพัฒนาบุคลากรด้านการดำเนินงานความปลอดภัยในสถานศึกษา พบว่า 1) การพัฒนาในวงรอบที่ 1 โดยใช้กลยุทธ์การประชุมกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ (AIC) การอบรมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศแบบมีส่วนร่วม ทำให้ครูและบุคลากรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวการดำเนินงานความปลอดภัยในสถานศึกษา ดีขึ้น แต่มีบางส่วนยังไม่สามารถดำเนินงานความปลอดภัยในสถานศึกษาได้สมบูรณ์ครบทั้ง 5 ด้าน คือ (1) ด้านอาคารสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานศึกษา ทั้งนี้เพราะสถานศึกษาก่อตั้งมากกว่า 10 ปี ซึ่งมีความชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากการใช้งาน (2) ด้านการจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย ทั้งนี้ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ ห้องสมุด บริเวณอาคารต่าง ๆ ได้เปิดใช้มานานหลายปี ทำให้มีความชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากการใช้งาน (3) ด้านการจัดการภัยพิบัติในสถานศึกษา ไม่มีมีการจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือในการป้องกันภัยธรรมชาติ เนื่องจากไม่ค่อยมีเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้น ทำให้เกิดความชะล่าใจ (4) ด้านการให้บริการความปลอดภัย การติดไฟฟ้าให้สว่างยังไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอต่อการใช้งาน (5) ด้านสุขภาพอนามัยและการลดความเสี่ยง มีการปฏิบัติน้อย เนื่องจากการจัดสวัสดิศึกษาเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับการเอาตัวรอดจากภัยอันตรายต่าง ๆ ซึ่งต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ใน การถ่ายทอดความรู้ 2) การพัฒนาในวงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์การนิเทศแบบมีส่วนร่วม โดยบุคลากรมี การดำเนินงานด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยรวมทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านอาคารสถานที่และ สิ่งอำนวยความสะดวกในสถานศึกษา มีการปรับปรุงซ่อมแซม อาคารสถานที่ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ปรับปรุงซ่อมแซมประตู หน้าต่าง และพัดลมของห้องเรียน ให้มีสภาพการใช้งานได้ดี สำหรับใช้ปิด - เปิดให้อากาศถ่ายเทสะดวก (2) ด้านการจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย มีการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อ การจัดการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียน และนอกนอกห้องเรียน มีความสะอาดปลอดภัย มีบรรยากาศที่ดี (3) ด้านการจัดการภัยพิบัติในสถานศึกษา มีการสํารวจข้อมูลความเสี่ยงที่เกิดจากภัยธรรมชาติ มีการจัดทำแผนป้องกัน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือในการป้องกันภัยธรรมชาติ และตรวจสอบให้ใช้งานได้อยู่เสมอ (4) ด้านการให้บริการความปลอดภัย มีการจัดบริการ เอื้ออำนวยความสะดวกในการส่งเสริมความรู้ การให้ประสบการณ์นอกเหนือจากการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการเรียนรู้สึกปลอดภัย และเกิดความพึงพอใจ (5) ด้านสุขภาพอนามัยและการลดความเสี่ยง มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ฝึกให้ผู้เรียนเกิดความระมัดระวังตนได้ดี โดยเริ่มจากการฝึกปฏิบัติจริง การให้ความรู้เรื่องใกล้ตัว มีการตรวจสุขภาพประจำปี มีการเฝ้าระวังภาวะสุขภาพและการบริการรักษาพยาบาลเบื้องต้นแก่ผู้เรียน และการดำเนินงานความปลอดภัยในสถานศึกษาหลังการพัฒนามีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนพัฒนา ( = 4.87, = 0.20) โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยจากระดับปานกลางเพิ่มไปในระดับมากที่สุด
2.2 ครูและบุคลากร ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ได้รับการพัฒนาด้านการดำเนินงานความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยใช้กลยุทธ์ กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ (AIC) การอบรมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศแบบมีส่วนร่วม มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงาน ในการดำเนินงานความปลอดภัยในสถานศึกษา หลังพัฒนาสูงกว่าก่อนพัฒนา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2.3 หลังการพัฒนาครูและบุคลากร มีทัศนคติต่อการดำเนินความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยรวมอยู่ในระดับดี ( =6.30, =0.52) โดยมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และอยู่ในระดับดีทุกรายการ
โดยสรุป การพัฒนาบุคลากรด้านการดำเนินงานความปลอดภัยในสถานศึกษาโดยใช้กลยุทธ์ กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ (AIC) การอบรมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศแบบมีส่วนร่วมทำให้ ครูและบุคลากร มีการพัฒนาดีขึ้นจึงควรสนับสนุนส่งเสริมกลยุทธ์ดังกล่าว ไปใช้ตามมาตรการดำเนินงานความปลอดภัยในสถานศึกษาต่อไป