ชื่อผลงาน : รายงานการประเมินโครงการระดมทรัพยากรทางการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนบ้านมะกอกใต้ (มุขประชาอุปถัมภ์)
ชื่อผู้รายงาน : นายยุทธนา เพชรเชนทร์ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านมะกอกใต้ (มุขประชาอุปถัมภ์) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 1
ปีการศึกษา : 2564
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการระดมทรัพยากรทางการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนบ้านมะกอกใต้ (มุขประชาอุปถัมภ์) ตามรูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) โดยประเมินเป็นรายด้าน ดังนี้ด้านสภาพแวดล้อมหรือบริบทของโครงการ (Context Evaluation) ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ (Input Evaluation) ด้านกระบวนการของโครงการ (Process Evaluation) และด้านผลผลิต (Product Evaluation) ของโครงการประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้ (1) ปริมาณและคุณภาพของการระดมทรัพยากรทางการศึกษาทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ทรัพยากรด้านบุคคล ทรัพยากรด้านการเงิน ทรัพยากรด้านวัสดุ อุปกรณ์ และทรัพยากรด้านการจัดการ (2) การมีส่วนร่วมในการระดมทรัพยากรทางการศึกษาและ (3) ความพึงพอใจของผู้มีส่วนร่วมที่มีต่อการดำเนินโครงการ เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเป็นแบบบันทึกปริมาณและคุณภาพของการระดมทรัพยากรทางการศึกษาทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ทรัพยากรด้านบุคคล ทรัพยากรด้านการเงิน ด้านวัสดุ อุปกรณ์ และทรัพยากรด้านการจัดการ โดยใช้แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 6 ฉบับ โดยสอบถามจากกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวนทั้งสิ้น 64 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการประเมินพบว่า
1. ผลการประเมินโครงการระดมทรัพยากรทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนบ้านมะกอกใต้ (มุขประชาอุปถัมภ์) ตามความคิดเห็นของครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านสภาพแวดล้อม พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.64, S.D. = 0.10) ผ่านเกณฑ์การประเมิน
2. ผลการประเมินโครงการระดมทรัพยากรทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนบ้านมะกอกใต้ (มุขประชาอุปถัมภ์) ตามความคิดเห็นของครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านปัจจัยนำเข้า โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ( = 4.37, S.D. = 0.25) ผ่านเกณฑ์การประเมิน
3. ผลการประเมินโครงการระดมทรัพยากรทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนบ้านมะกอกใต้ (มุขประชาอุปถัมภ์) ตามความคิดเห็นของครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านกระบวนการ พบว่า ในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.52, S.D. = 0.15) ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4. ผลการประเมินโครงการระดมทรัพยากรทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนบ้านมะกอกใต้ (มุขประชาอุปถัมภ์) ด้านผลผลิต จำแนกเป็น
4.1 ปริมาณและคุณภาพของการระดมทรัพยากรทางการศึกษา ได้แก่ ทรัพยากรด้านบุคคล ทรัพยากรด้านการเงิน ทรัพยากรด้านวัสดุ อุปกรณ์ และทรัพยากรด้านการจัดการจากการบันทึกข้อมูลตามสภาพจริงทั้ง 4 ด้าน ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.2 การมีส่วนร่วมในการระดมทรัพยากรทางการศึกษาทั้ง 4 ด้าน ตามความเห็นของครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.71, S.D. = 0.12) ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.3 ความพึงพอใจของครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีต่อการดำเนินโครงการระดมทรัพยากรทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนบ้านมะกอกใต้ (มุขประชาอุปถัมภ์) โดยภาพรวมมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด( = 4.55, S.D. = 0.14) ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.4 ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการดำเนินโครงการระดมทรัพยากรทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนบ้านมะกอกใต้ (มุขประชาอุปถัมภ์)โดยภาพรวมมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด ( = 4.55, S.D. = 0.11) ผ่านเกณฑ์การประเมิน
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1.1 โรงเรียนควรนำผลการประเมินไปวิเคราะห์รายละเอียดของผลการดำเนินงานว่ามีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไรบ้าง เพื่อนำไปปรับปรุง พัฒนารูปแบบการระดมทรัพยากรทางการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาครั้งต่อไป ให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษามากยิ่งขึ้น
1.2 ควรกำหนดภาคีเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการระดมทรัพยากรทางการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ให้ครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องมากที่สุด
1.3 ควรนำผลการดำเนินงานโครงการระดมทรัพยากรทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนบ้านมะกอกใต้ (มุขประชาอุปถัมภ์) ในวงกว้างทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 1 เพื่อเป็นแบบอย่างให้โรงเรียนที่อยู่ในบริบทที่คล้ายคลึงกัน
1.4 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานควรส่งเสริมรูปแบบการประเมินโครงการระดมทรัพยากรทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาให้กับโรงเรียนในสังกัดทั้งระบบ
2. ข้อเสนอในการประเมินครั้งต่อไป
2.1 ให้มีการประเมินผลการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาเชิงคุณภาพ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับการลงทุนทางการศึกษาของรัฐและเกิดความเสมอภาค
2.2 ให้มีการศึกษาและประเมินความต้องการจำเป็นของทรัพยากรทางการศึกษาเป็นรายด้านเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมกับขนาดของโรงเรียน