ในการรายงานการประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 2 กำแพงเพชร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากำแพงเพชร มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 2 กำแพงเพชร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากำแพงเพชร โดยใช้กรอบการประเมิน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการ (Process) ด้านผลผลิต (Product) 2) เพื่อศึกษาแนวทาง การส่งเสริมการดำเนินโครงการโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 2 กำแพงเพชร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากำแพงเพชร กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการ จำนวน 436 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 2 คน ครูและบุคลากร จำนวน 29 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 29 คน นักเรียน จำนวน 196 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 196 คน และกลุ่มผู้ให้ข้อมูล ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ แบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 3 ฉบับ และแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง จำนวน 1 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Arithmetic Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis)
ผลการประเมิน พบว่า
1) ผลการประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 2 กำแพงเพชร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากำแพงเพชร โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านบริบทของโครงการ และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านผลผลิตของโครงการ
ด้านที่ 1 ด้านบริบทของโครงการ (Context Evaluation) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ โครงการมุ่งส่งเสริมให้ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา เห็นความสำคัญของการพัฒนาด้านคุณธรรมจริยธรรม เป็นต้นแบบด้านคุณธรรมให้กับนักเรียน และสังคมส่วนรวม และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ โครงการสามารถแก้ปัญหา/ส่งเสริมด้านคุณธรรม จริยธรรม ให้กับนักเรียนได้อย่างแท้จริง
ด้านที่ 2 ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ (Input Evaluation) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ผู้บริหารโรงเรียนให้ความสำคัญ และเป็นผู้นำในการส่งเสริมการพัฒนาด้านคุณธรรม จริยธรรม และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ผู้ปกครองให้ร่วมมือกับโรงเรียนในการส่งเสริม/แก้ปัญหาด้านคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน ด้านที่ 3 ด้านกระบวนการการดำเนินงาน (Process Evaluation) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ มีการวางแผนการดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. อย่างชัดเจน และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ มีการขยายแนวคิดของการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมไปยังโรงเรียนอื่น ๆ หรือชุมชนโดยรอบ
ด้านที่ 4 ด้านผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ผู้บริหาร ครู บุคลากร และนักเรียนเห็นความ สำคัญของการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และภาคภูมิใจในการร่วมกันสร้าง คนดีให้แก่บ้านเมือง และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ นักเรียนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเป็นแบบอย่างที่ดีด้านคุณธรรม
2) แนวทางส่งเสริมการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม ของโรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 2 กำแพงเพชร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากำแพงเพชร ในภาพรวม สรุปได้ว่า สถานศึกษาควรดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วม จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน สังคม หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคน กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และสามารถปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายอย่างแท้จริง ดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรมตามกระบวนการ และหลักการมูลนิธิยุวสถิรคุณ ทำทุกคน ทำจากล่างขึ้นบน ทำอย่างมีส่วนร่วม และทำอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมกระบวนการ PLC ทุกขั้นตอนในการดำเนินงาน มีระบบนิเทศการติดตาม ส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลืออย่างจริงจัง ทำเป็นประจำบ่อยครั้งขึ้น เมื่อพบปัญหาให้รีบดำเนินการแก้ไขทันที และทำอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ สนับสนุนงบประมาณเพื่อให้ดำเนินการได้อย่างเพียงพอ เสริมสร้างขวัญและกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน และยกย่องเชิดชู นักเรียนคุณธรรมดีเด่นในด้านต่าง ๆ และควรมีการถอดบทเรียน เพื่อเป็นการศึกษาสิ่งที่ผิดพลาดและประสบความสำเร็จ แล้วทำสิ่งที่ได้มาคงสภาพไว้ หรือปรับปรุงพัฒนา เพื่อให้การดำเนินงานในครั้งต่อไป ปรับปรุงแก้ไขให้มีความสมบูรณ์หรือเหมาะสมกับยุคสมัย และวัยของนักเรียน
และในรายด้านสรุปได้ว่า ด้านบริบทของโครงการ (Context Evaluation) สถานศึกษาควรวิเคราะห์ปัญหาให้ชัดเจน ต้องตระหนัก เปิดใจรับฟังปัญหาและระบบของสังคมอย่างเข้าใจ และร่วมใจแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ร่วมกันกำหนดคุณธรรมอัตลักษณ์ของโรงเรียนที่สอดคล้อง และสะท้อนปัญหาของผู้เรียน ดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความยั่งยืน มีการดำเนินกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ เพราะการบ่มเพาะคุณธรรม จริยธรรม จะต้องทำทุกวัน เป็นประจำ โดยเฉพาะเด็กยุคใหม่ ต้องส่งเสริมจากการทำกิจกรรมอย่างหลากหลายทั้งภายในโรงเรียน และที่บ้าน ไม่เน้นการอบรมบรรยาย ออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับช่วงวัย และความสนใจของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน เช่น โครงงานคุณธรรมที่เน้นการปฏิบัติ กิจกรรมเสริมวิเคราะห์บทเพลง ทำหนังสั้น ฯ
ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ (Input Evaluation) สถานศึกษาควรประชุมชี้แจงผู้ปกครองในกิจกรรมวันประชุมผู้ปกครอง สร้างความตระหนัก ความเข้าใจร่วมกัน ในการส่งเสริม แก้ปัญหาคุณธรรม จริยธรรมของบุตรหลาน เริ่มต้นตั้งแต่ครอบครัว ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการบ่มเพาะคุณงามความดีให้เด็ก ๆ ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน โดยใช้กิจกรรมครอบครัวคุณธรรมตามแนวทาง สพฐ.ในการสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครอง ส่งเสริมให้ครูที่ปรึกษา สร้างเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนในระดับห้องเรียนของแต่ละห้องเรียน เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักและรับรู้ปัญหาในกลุ่มย่อยและวิเคราะห์ถึงผลเสียต่อนักเรียน ให้ชัดเจน ทำกิจกรรมขับเคลื่อนกับผู้ปกครองนักเรียนอย่างต่อเนื่อง อาจจะใช้ไลน์กลุ่มของห้องเรียน ในการมอบหมายกิจกรรมให้เด็กๆ ขอความร่วมมือผู้ปกครองรายงานผลเป็นระยะ ๆ พิจารณาแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างครู นักเรียนและผู้ปกครองที่เป็นแกนนำ ดำเนินการแก้ไขปัญหาในประเด็น ที่กำหนดไว้ ติดตามการดำเนินการโดยครู และผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง สรุปผลการดำเนินงานของเครือข่าย และขยายผลสู่เครือข่ายระดับโรงเรียนต่อไป
ด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process Evaluation) สถานศึกษาควรดำเนินงานเป็นไปตามกระบวนการ 4 หลักการ 6 ขั้นตอน หรือ 4+6 โมเดล ตามกระบวนการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมของมูลนิธิ และโรงเรียนต้องดำเนินการให้เห็นผลการพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นแบบอย่างได้ ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการรับรู้และยอมรับจากโรงเรียนและชุมชนโดยรอบ ในระยะเริ่มแรกของความสำเร็จ จะต้องมีการสานต่อให้เกิดความยั่งยืน มีการถอดบทเรียนเพื่อศึกษา วิธีการที่นำไปสู่ความสำเร็จ แล้วจึงมีการเผยแพร่ไปสู่โรงเรียนอื่นและชุมชนโดยรอบ โดยนำทฤษฎีหรือแนวทางที่ได้จากการถอดบทเรียนไปเผยแพร่ให้เกิดการเรียนรู้และยอมรับ จนมีความต้องการที่จะศึกษาและทำตามแบบอย่างดังกล่าว จากนั้นสร้างเครือข่ายระดับกลุ่มโรงเรียน ระดับเขตพื้นที่เดียวกัน โดยสร้างบันทึกข้อตกลงเพื่อพัฒนางานร่วมกัน แต่งตั้งคณะกรรมการเครือข่ายร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนแนวนโยบายและกิจกรรมโรงเรียนคุณธรรม เครือข่ายร่วมกันดำเนินกิจกรรมที่วางแผนร่วมกัน ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็น สรุปผลการดำเนินงานและนำผลงานมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนประชาสัมพันธ์ผลงานที่ประสบความสำเร็จ ศึกษาดูงานโรงเรียนในเครือข่าย เผยแพร่ผลงานสู่โรงเรียนนอกเครือข่าย สู่ชุมชน ขยายผลการดำเนินงาน กิจกรรมที่ได้ปฏิบัติเป็นเลิศ ด้านคุณธรรม จริยธรรมสู่โรงเรียนในระดับเขตพื้นที่และนอกเขตพื้นที่ต่อไป
ด้านผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation) สถานศึกษาควรยึดหลักการถือว่าผู้เรียน เป็นเป้าหมายผลผลิตที่สำคัญที่สุดของโครงการ ปลูกฝังผู้เรียนให้มีคุณธรรมและจิตสำนึกที่ดีต่อบ้านเมืองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการดำรงชีวิตที่ดี ที่ถูกต้อง อย่างมีคุณภาพ บูรณาการความรู้ควบคู่ความดี ไม่แยกเรื่อง แยกส่วนพัฒนาและฝึกฝนทักษะกระบวนการคิด ทักษะทางสังคมที่ถูกต้อง ทักษะกระบวนการ ทำงานที่เป็นระบบ เน้นความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม จัดอบรมกระบวนการส่งเสริมคุณธรรมให้กับนักเรียนแกนนำ และมีกิจกรรมสะท้อนคิดระหว่างทำกิจกรรมโครงงาน และจัดเวทีให้นักเรียนแกนนำ นำเสนอโครงงาน ควรใช้แนวคิดเชิงบวก เสริมแรง มอบรางวัล ให้กับนักเรียนที่เป็นแบบอย่างด้านคุณธรรม หรืออาจมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่มีความดีเด่นด้านคุณธรรม นอกจากเรียนเก่ง หรือยากจน ประชาสัมพันธ์การเป็นคนดี มีคุณธรรมเพื่อใช้โอกาสในการสมัครเข้าเรียนโควตาเด็กดีมีที่เรียน ของแต่ละสถาบันที่มีจำนวนหลากหลายแห่งในปัจจุบัน