สัยธิชน ชนกพัฒนกุล : การประเมินหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์
พุทธศักราช 2564 โดยประยุกต์ใช้รูปแบบ CIPPIEST
การประเมินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ พุทธศักราช 2564 โดยประยุกต์ใช้รูปแบบ CIPPIEST ใน 8 ด้าน ได้แก่ ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต ด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผล ด้านความยั่งยืน และด้านการส่งต่อ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 584 ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารหลักสูตร จำนวน 10 คน ครูผู้สอน จำนวน 71 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 15 คน คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง จำนวน 144 คน และนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 344 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินหลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ ประกอบด้วย แบบสอบถามสำหรับการประเมินหลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ พุทธศักราช 2564 จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ แบบประเมินหลักสูตรโรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ พุทธศักราช 2564 โดยประยุกต์ใช้รูปแบบ CIPPIEST Model สำหรับครู กรรมการบริหารหลักสูตร คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครอง และแบบประเมินหลักสูตรโรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ พุทธศักราช 2564 โดยประยุกต์ใช้รูปแบบ CIPPIEST Model สำหรับนักเรียน และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าร้อยละ ผลการประเมินสรุปได้ดังนี้
ด้านบริบท หลักการ เหตุผล วัตถุประสงค์ของหลักสูตรสถานศึกษาสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 (ฉบับปรับปรุง 2564) ในภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด หลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ มีความสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 (ฉบับปรับปรุง 2564) อย่างชัดเจน องค์ประกอบของหลักสูตรในภาพรวมมีความเหมาะสมร้อยละ 96.25 ไม่เหมาะสม ร้อยละ 3.75 วิสัยทัศน์ของหลักสูตร ในภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ซึ่งหลักสูตรสถานศึกษาได้กำหนดไว้ 10 ข้อ มีความเหมาะสมร้อยละ 100 โครงสร้างหลักสูตรปกติ และหลักสูตร Mini English Program (MEP) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 16 มีความเหมาะสมร้อยละ 100
ด้านปัจจัยนำเข้า ผลการประเมินความพร้อมและศักยภาพของครูผู้สอน ความพร้อมของงบประมาณ ความพร้อมของสื่อ วัสดุอุปกรณ์ และ ICT และการประเมินแหล่งเรียนรู้ และอาคารสถานที่ ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยโรงเรียนควรมีการปรับปรุงเพิ่มเติม ในเรื่องของการส่งเสริมให้ครูมีความสามารถในการวิเคราะห์หลักสูตร การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และส่งเสริมให้ครูประพฤติและปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน ปรับปรุงพัฒนาห้องสมุดให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มงบประมาณให้เพียงพอสำหรับการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ อย่างเพียงพอ
ด้านกระบวนการ ผลการประเมินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การวัดผลและประเมินผลการเรียน และการบริหารหลักสูตร ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยโรงเรียนควรมีการพัฒนาครูให้มีความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการคิดแก้ปัญหาต่างๆ ของนักเรียน การนำวิจัยในชั้นเรียนมาปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอน ส่งเสริม ครูผู้สอนควรทำการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ก่อนเรียน ระหว่างเรียน และหลังเรียนให้มากขึ้น รวมทั้ง ควรมีการนำผลการประเมินผลการจัดการเรียนการสอนของครูมาปรับปรุงพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต่อไป
ด้านผลผลิต ผลการประเมินคุณลักษณะของนักเรียนที่เกิดขึ้นจากการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด แต่ควรปรับปรุงพัฒนาในเรื่องการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษของนักเรียนทุกระดับชั้น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 นักเรียนมีผลการเรียนค่อนข้างต่ำในวิชาภาษาอังกฤษ วิชาวิทยาศาสตร์ และวิชาคณิตศาสตร์ ผลการประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน นักเรียนทุกคนผ่านการประเมิน ผลการประเมินการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และการเขียน นักเรียนผ่านในระดับดีเยี่ยมร้อยละ 93.78 ผ่านระดับดีร้อยละ 6.22
ด้านผลกระทบ ผลการประเมินผลกระทบที่เกิดกับนักเรียน และผลกระทบต่อโรงเรียน ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด แต่ก็ยังควรส่งเสริม พัฒนา เตรียมความพร้อมนักเรียน บุคลากร และโรงเรียนอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาระบบงาน การดำเนินงานต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนเป็นที่ยอมรับในชุมชน สังคมต่อไป
ด้านประสิทธิผล ผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด แต่ควรส่งเสริมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีโอกาสในการเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินหลักสูตรเป็นประจำ มีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนเป็นประจำทุกปีเช่นกัน
ด้านความยั่งยืน ผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เห็นสมควรในการรักษา และพัฒนาคุณภาพของการดำเนินงาน ด้านการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตร โดยคำนึงถึงความต้องการของโรงเรียน และชุมชนเป็นสำคัญ
ด้านการส่งต่อ ผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยควรส่งเสริมการพัฒนาผู้เรียน ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการตามแนวทางโรงเรียนวิถีพุทธ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการพัฒนานักเรียนสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งกาย ใจ สติปัญญา ให้เป็นคนดี คนเก่ง และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข จนเป็นแบบอย่างที่ดี สามารถขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่นได้