ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการพัฒนาด้วยกัน สรรสร้างการศึกษา ของโรงเรียนอนุบาลกำแพงเพชร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1
ปีการศึกษา 2564
ชื่อผู้ประเมิน นางสาวฐานิต แจ้งดี
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อประเมินบริบทของโครงการ (Context Evaluation) เกี่ยวกับความต้องการจำเป็นของโครงการ ความสอดคล้อง/ความเหมาะสมของวัตถุประสงค์โครงการ และการเตรียมการภายในโครงการ 2) เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้า
ของโครงการ (Input Evaluation) เกี่ยวกับความพร้อมของผู้รับผิดชอบโครงการ วัสดุอุปกรณ์/อาคารสถานที่ในการดำเนินโครงการ ความเหมาะสมของปัจจัยในการดำเนินงาน และความเพียงพอของงบประมาณ 3) เพื่อประเมินด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process Evaluation) เกี่ยวกับกระบวนการ กิจกรรมการดำเนินงานตามโครงการ และการนิเทศ กำกับ ติดตามโครงการ 4) การประเมินด้านผลลัพธ์ (Product Evaluation) เกี่ยวกับผลการดำเนินโครงการ ความพึงพอใจของครูผู้สอน นักเรียนและผู้ปกครอง และคุณภาพผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสถานศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- 6 ผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน (National Test : NT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการพัฒนาด้วยกัน สรรสร้างการศึกษา โรงเรียนอนุบาลกำแพงเพชร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1 จำนวน 668 คน ประกอบด้วย ครูผู้สอนระดับชั้นอนุบาล - ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 48 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-5 จำนวน 310 คน และผู้ปกครองชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-5 จำนวน 310 คน
ในการประเมินครั้งนี้ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage sampling) โดยการสุ่ม
2 ขั้นตอน คือการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster sampling) และการสุ่มอย่างง่าย (Simple random sampling) ด้วยโปรแกรม Excel
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 3 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การหาค่าเฉลี่ย ( X- Bar) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) กำหนดเกณฑ์การประเมินผลเพื่อแปลความหมายโดยใช้เกณฑ์สัมบูรณ์ (Absolute Criteria)
ผลการประเมินพบว่า
การประเมินโครงการพัฒนาด้วยกัน สรรสร้างการศึกษา โรงเรียนอนุบาลกำแพงเพชร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1 ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
(X- Bar = 4.38, S.D. = 0.15) การดำเนินโครงการมีคุณภาพมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ การประเมินด้านผลลัพธ์ (Product Evaluation) มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (X- Bar = 4.54, S.D. = 0.15) รองลงมา ได้แก่ การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation)
มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก สรุปผลการประเมินรายด้านได้ ดังนี้
1. ด้านบริบท (Context Evaluation) ตามความคิดเห็นของครูผู้สอนโดยภาพรวม
มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (X- Bar= 4.25, S.D. = 0.13) ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ โครงการได้ดำเนินกิจกรรมอย่างทั่วถึงและมีความต่อเนื่อง โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (X- Bar= 4.62, S.D. = 0.49) รองลงมา ได้แก่ วัตถุประสงค์ของโครงการเป็นการพัฒนาความรู้และทักษะการจัดการเรียนการสอนของครู โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด
(X- Bar= 4.60, S.D. = 0.49)
2. ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน โดยภาพรวม
มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (X- Bar= 4.42, S.D. = 0.14) ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ โรงเรียนมีประสานงานกับบุคลากรภายนอกเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (X- Bar= 4.77, S.D. = 0.43) รองลงมา ได้แก่ โรงเรียนจัดพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (X- Bar= 4.73, S.D. = 0.45)
3. ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน โดยภาพรวม
มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (X- Bar= 4.31, S.D. = 0.18) ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ โรงเรียนมีการนิเทศ กำกับ ติดตามการดำเนินโครงการอย่างเหมาะสม โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด X- Bar= 4.75, S.D. = 0.44) รองลงมา ได้แก่ ผู้บริหาร คณะกรรมการบริหารโรงเรียนมีดำเนินการนิเทศด้วยวิธีการที่หลากหลาย โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด
(X- Bar= 4.60, S.D. = 0.49 )
4. ด้านผลลัพธ์ (Product Evaluation) ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครอง โดยภาพรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (X- Bar = 4.54, S.D. = 0.15) ผ่านเกณฑ์
การประเมิน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการ ตามความคิดเห็น
ของครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครอง โดยภาพรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (X- Bar= 4.54, S.D. = 0.15) ผ่านเกณฑ์การประเมิน และผลการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสถานศึกษา
ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 ปีการศึกษา 2563-2564 พบว่า ค่าร้อยละของนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแต่ละรายวิชาในระดับ 3 ขึ้นไป ในปีการศึกษา 2564 สูงกว่าปีการศึกษา 2563 ทุกรายวิชา ผลการวิเคราะห์การประเมินคุณภาพผู้เรียน (National Test : NT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2564 พบว่า ค่าเฉลี่ยความสามารถด้านภาษาไทย และความสามารถด้านคณิตศาสตร์ มีค่าร้อยละ 59.25 ซึ่งสูงกว่าระดับประเทศทุกด้าน ผลการวิเคราะห์การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2564 พบว่า ค่าเฉลี่ยวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ฯ เฉลี่ย 4 รายวิชา ระดับโรงเรียน มีค่าร้อยละ 53.76 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศทุกรายวิชา