รายงาน การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านทองมงคล
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 1
ผู้รายงาน นางสาวนันทรัตน์ เกื้อหนุน
โรงเรียน บ้านทองมงคล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการในครั้งนี้ใช้รูปแบบการประเมินโครงการแบบซิปป์ (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีมและคณะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสภาพแวดล้อม ปัจจัยเบื้องต้น กระบวนการและผลผลิตของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านทองมงคล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 กลุ่มผู้ให้ข้อมูลในการประเมินครั้งนี้ ประกอบด้วย ครู จำนวน 24 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน นักเรียน
ชั้นอนุบาลปีที่ 2 - ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 234 คน และผู้ปกครองนักเรียนจำนวน 234 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 505 คน ซึ่งผู้ให้ข้อมูลทั้งหมดและได้มาโดยการคัดเลือกแบบเจาะจงและการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านทองมงคล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมิน พบว่า
การประเมินโครงการตามวัตถุประสงค์การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านทองมงคล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 โดยภาพรวมทั้ง 4 ด้าน พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านผลผลิต (Product : P) รองลงมา คือ ด้านกระบวนการ (Process: P) ด้านสภาพแวดล้อม (Context : C) และด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input: I) ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน สรุปได้ดังนี้
1. ด้านสภาพแวดล้อม (Context : C) โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ วัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับการดำเนินงานของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ หลักการ วัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการมีความเหมาะสมและสอดคล้องกัน
2. ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input: I) โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการบริหารจัดการมีค่าเฉลี่ยสูงสุด และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ด้านงบประมาณ
3. ด้านกระบวนการ (Process: P) โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านการนิเทศ ติดตาม และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ได้แก่ ด้านการประเมินผลการดำเนินงาน
4. ด้านผลผลิต (Product : P) โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ผู้เกี่ยวข้องมีความเชื่อมั่นและให้ความร่วมมือสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด นักเรียนมีทักษะในการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะประสบปัญหาในการใช้ชีวิต และผลความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีต่อการดำเนินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านทองมงคล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายการ พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านการส่งเสริมและพัฒนานักเรียน และรายการที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ด้านการส่งต่อ
เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์เป้าหมายความสำเร็จของโครงการที่ค่าเฉลี่ย ตั้งแต่ 3.50 ขึ้นไป พบว่า การประเมินโครงการทุกด้านมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ แสดงว่า ผลการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านทองมงคล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 ประสบความสำเร็จ