บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนเมืองเพชรบูรณ์
ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565
ผู้ประเมิน นางปาริชาติ เรืองนาม
ปีที่รายงาน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเรื่องการประเมิน โครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนเมืองเพชรบูรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความสอดคล้องของบริบท (Context) ความเหมาะสมของปัจจัยเบื้องต้น (Input) กระบวนการ (Process) และ ผลผลิต (Product) โครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนเมืองเพชรบูรณ์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565
ประชากรและการสุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน ครูผู้สอน จำนวน 26 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 97 คน และ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โรงเรียนเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 97 คน ซึ่งมาจากการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ตัวแปรในการศึกษา ประกอบด้วย ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการ ปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ กระบวนการของโครงการ และผลผลิตของโครงการ ตามความคิดเห็นของครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติโดยการหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตราฐาน
ผลการศึกษาพบว่า
1. ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นครู (ร้อยละ 66.70) นักเรียน และ ผู้ปกครอง (ร้อยละ 50.00) เพศหญิง (เป็นร้อยละ 51.00)
2. ผลการศึกษาความคิดเห็นต่อการดำเนินงานโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนเมืองเพชรบูรณ์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 โดยรวมมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านผลผลิต (Product) มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ ด้านกระบวนการ (Process) ต่อมาคือ ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input) รองมาตามลำดับ ส่วนด้านที่มีคะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ด้านบริบท (Context)
3. ด้านบริบท (Context) โดยรวมมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ความต้องการจำเป็นของโครงการ มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ วัตถุประสงค์ของโครงการ รองมาตามลำดับ ส่วนด้านที่มีคะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ความเป็นไปได้ของโครงการ
4. ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input) โดยรวมมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ความเพียงพอด้านทรัพยากรต่างๆ มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ ความพร้อมของบุคคลที่เกี่ยวข้อง รองมาตามลำดับ
5. ด้านกระบวนการ (Process) โดยรวมมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า กิจกรรมการดำเนินงานตามโครงการ มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ ช่วงเวลาดำเนินงานตามโครงการ รองมาตามลำดับ
6. ด้านผลผลิต (Product) โดยรวมมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นข้อด้าน พบว่า นักเรียนมีความรับผิดชอบในงานที่มอบหมายมากขึ้น มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ นักเรียนมีจิตใจเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอ รองมาตามลำดับ ส่วนข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ นักเรียนมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี สามารถเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม และ นักเรียนมีความเป็นอยู่ด้านเศรษฐกิจและการดำเนิน ชีวิตที่เหมาะสม ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากัน