ผู้รายงาน ดร. ไพบูรณ์ เกตวงษา
ตำแหน่ง ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสกลนคร
ปีที่รายงาน ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การรายงานผลการประเมินโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการนิเทศการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ตำแหน่งครูผู้ช่วยด้วยกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูของโรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสกลนคร ตามความคิดเห็นของครูผู้ช่วย ครูพี่เลี้ยง ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารสถานศึกษา โดยประชากร คือ ครูผู้ช่วย ครูพี่เลี้ยง ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 55 คน
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย ครูผู้ช่วย จำนวน 18 คน ครูพี่เลี้ยง จำนวน 19 คน ผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 10 คน และศึกษานิเทศก์ จำนวน 1 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 48 คน โดยใช้ตารางเครจ์ซีและมอร์แกน (Krejcie And Morgan) (สุวิมล ติรกานันท์, 2545, หน้า 82)เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่ผู้ประเมินสร้างขึ้น เป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (rating-scale) 5 ระดับ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.96 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ใช้รูปแบบการประเมินโครงการรูปแบบซิพพ์ (CIPP Model) เป็นการประเมินวัตถุประสงค์และรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการนิเทศการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ตำแหน่งครูผู้ช่วยด้วยกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูของโรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสกลนคร โดยแบบประเมินมี 4 ด้าน จำนวน 30 ข้อ ผลการประเมินปรากฎผล ดังนี้
ครูผู้ช่วย ครูพี่เลี้ยง ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารสถานศึกษา เห็นว่าระดับ
การประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการนิเทศการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ตำแหน่งครูผู้ช่วยด้วยกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูของโรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสกลนคร โดยรวมและรายด้านทุกด้านอยู่ในระดับมาก
เรียงอันดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย คือ ด้านผลผลิต ด้านกระบวนการ ด้านบริบท และด้านปัจจัย โดยมีรายข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดในแต่ละด้าน คือ ครูผู้ช่วยที่ผ่านกระบวนการนิเทศมีความรู้ ความสามารถและทักษะในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ ครูผู้ช่วย ครูพี่เลี้ยง ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารสถานศึกษามีส่วนร่วมกำหนดแผนการนิเทศการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มตำแหน่งครูผู้ช่วย วัตถุประสงค์ของโครงการชัดเจนและมีความเป็นไปได้ และคณะกรรมการนิเทศที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการมีความรับผิดชอบ เมื่อพิจารณาผลการประเมินปรากฏว่าผ่านเกณฑ์
การประเมิน โดยมีผลการประเมินสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
คำสำคัญ : การประเมินโครงการนิเทศ, การเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มตำแหน่งครูผู้ช่วย, และกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครู