การประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรมอัตลักษณ์ ด้านความพอเพียง ตามกรอบแนวคิดโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. โดยประยุกต์ใช้การประเมินแบบ CIPP Model โรงเรียนจ่านกร้อง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพิษณุโลก อุตรดิตถ์ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการส่งเสริมคุณธรรมอัตลักษณ์ ด้านความพอเพียง ตามกรอบแนวคิดโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ของนักเรียนโรงเรียนจ่านกร้อง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพิษณุโลก อุตรดิตถ์ ผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้บริหาร ครู กรรมการสถานศึกษา นักเรียน ผู้ปกครองและตัวแทนชุมชน รวม 1,845 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล จำนวน 9 ฉบับ ประกอบด้วย แบบประเมินด้านบริบท จำนวน 1 ฉบับ แบบประเมินด้าน ปัจจัยนำเข้า จำนวน 1 ฉบับ แบบประเมินด้านกระบวนการ จำนวน 5 ฉบับ และแบบประเมินด้านผลผลิต จำนวน 2 ฉบับ เครื่องมือ ทุกฉบับผ่านการหาความตรงเชิงเนื้อหา (Content Validity) โดยให้ผู้เชี่ยวชาญประเมิน จำนวน 5 คน และมีค่า IOC ผ่านเกณฑ์ทุกข้อ นอกจากนั้น แบบวัดพฤติกรรมอยู่อย่างพอเพียงได้ทดลองใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาพิษณุโลก อุตรดิตถ์ จำนวน 80 คน เพื่อหาค่าความเที่ยง (Reliability) มีค่าความเที่ยงผ่านเกณฑ์ 0.7 ทุกฉบับ ผลการประเมินพบว่า
1. ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย ครู จำนวน 61 คน เป็นครูที่สอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ผู้บริหาร จำนวน 5 คน กรรมการสถานศึกษาที่ไม่ใช่ครู จำนวน 12 คน นักเรียน จำนวน 1,532 คน และผู้ปกครองนักเรียนและตัวแทนชุมชน จำนวน 235 คน
2. ผลการประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) พบว่า นโยบาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ หลักสูตรสถานศึกษา สภาพความเป็นอยู่ของผู้ปกครองและชุมชน ศักยภาพและทรัพยากรของโรงเรียนและชุมชน สภาพความต้องการของนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการในระดับมากที่สุด มีความเป็นไปได้ที่โครงการจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
3. ผลการประเมินโครงการด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) พบว่า ความพร้อมของ ผู้บริหาร ครู กรรมการสถานศึกษา โรงเรียน งบประมาณ แผนการบริหารจัดการ วัสดุอุปกรณ์ และสถานที่ที่ใช้ในการดำเนินโครงการฯมีความพร้อมในระดับมาก
4. ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) พบว่า
4.1 ระยะที่ 1 กระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าให้เกี่ยวกับคุณธรรมอัตลักษณ์ ด้านความพอเพียง ตามกรอบแนวคิดโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ให้แก่นักเรียน พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดเตรียมสถานที่ โสตทัศนูปกรณ์ และวัสดุอุปกรณ์ การประชาสัมพันธ์ การบริหารจัดการ และวิทยากรในระดับมากที่สุด และมีความพึงพอใจต่อการประเมินผลในระดับมาก
4.2 ระยะที่ 2 การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการคุณธรรมอัตลักษณ์ ด้านความพอเพียง ตามกรอบแนวคิดโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ในรายวิชาต่างๆ ตามหลักสูตรสถานศึกษาให้แก่นักเรียน พบว่า ครูและผู้บริหารโรงเรียนมีความพึงพอใจต่อกระบวนการจัดการเรียนการสอนและการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้แบบบูรณาการของผู้ปกครองและชุมชนในระดับมากที่สุด นอกจากนั้น ครูและนักเรียนยังมีความพึงพอใจต่อกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning และการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของนักเรียนในระดับมากที่สุด เช่นเดียวกัน
4.3 ระยะที่ 3 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานคุณธรรมอัตลักษณ์ ด้านความพอเพียง ตามกรอบแนวคิดโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ของนักเรียน พบว่า ครูและนักเรียนมีความพึงพอใจต่อกระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานในระดับมาก และผู้ปกครองและตัวแทนชุมชนมีความพึงพอใจต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานของผู้ปกครองและชุมชนในระดับมากที่สุด
5. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) พบว่า
5.1 ระยะที่ 1 กระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าให้เกี่ยวกับคุณธรรมอัตลักษณ์ ด้านความพอเพียง ตามกรอบแนวคิดโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ให้แก่นักเรียน พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อผลการเข้าร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในระดับมาก และมีปัญหาอุปสรรคในระดับน้อย
5.2 ระยะที่ 2 การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการคุณธรรมอัตลักษณ์ ด้านความพอเพียง ตามกรอบแนวคิดโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ในรายวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตรสถานศึกษาให้แก่นักเรียน พบว่า นักเรียนมีคุณธรรมอัตลักษณ์ ด้านความพอเพียง ตามกรอบแนวคิดโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ในด้านที่ 1 ความพอประมาณ ด้านที่ 2 ความมีเหตุผล ด้านที่ 3 การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว และในภาพรวม หลังสิ้นสุดโครงการระยะที่ 2 สูงกว่าก่อนเริ่มโครงการระยะที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทุกระดับชั้น (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 , 2 และ 3) และมีพฤติกรรมอยู่อย่างพอเพียง ตามกรอบแนวคิดโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. หลังสิ้นสุดโครงการระยะที่ 2 ในระดับมากที่สุด และสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 80 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
5.3 ระยะที่ 3 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานคุณธรรมอัตลักษณ์ ด้านความพอเพียง ตามกรอบแนวคิดโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ของนักเรียน พบว่า มีจำนวนโครงงานคุณธรรม อัตลักษณ์ ตามกรอบแนวคิดโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ของนักเรียน รวม 78 โครงงาน ส่วนใหญ่เป็นโครงงานที่บูรณาการคุณธรรมอัตลักษณ์ 3 ด้าน และบรรลุตามผลลัพธ์ที่กำหนดไว้ทุกโครงาน (ร้อยละ 100) ผลลัพธ์ของโครงงานทั้งหมด เมื่อนำมาคำนวณหาค่าขนาดอิทธิพล (Effect size) มีค่ามากกว่า 3.00 ตรงกับตำแหน่งเปอร์เซ็นท์ไทล์ที่ 99.99 หมายความว่า นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีพัฒนาการด้านคุณธรรมอัตลักษณ์ ความพอเพียง สูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 99.99 ของนักเรียนที่ร่วมโครงการทั้งหมด