บทคัดย่อ
การประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนจ่านกร้อง ปีการศึกษา 2564 จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์
1) เพื่อประเมินความสอดคล้อง ด้านบริบท (Context)
2) เพื่อประเมินความเหมาะสมด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input)
3) เพื่อประเมินความเหมาะสมด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process) และ
4) เพื่อประเมินระดับการปฏิบัติด้านผลผลิต (Product)
โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินโครงการแบบซิปป์ (CIPP Model) กลุ่มประชากร ที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ ผู้บริหาร จำนวน 5 คนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 15 คน ใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selection) กลุ่มตัวอย่างที่ได้มาจากเกณฑ์กำหนดขนาดการสุ่มกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางของ เครจ์ซีและมอร์แกน (Krejeie and Morgan, 1970 : 607-610; อ้างถึงใน บุญชม ศรีสะอาด, 2560 : 43) ได้แก่ ครูผู้สอน จำนวน 86 คน นักเรียน จำนวน 330 คน และ ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 330 คน รวมทั้งสิ้น 766 คน ใช้วิธีการสุ่มเลือกแบบง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินมีจำนวนทั้งหมด 4 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 แบบประเมินความสอดคล้องโครงการด้านบริบท ฉบับที่ 2 แบบประเมินความเหมาะสมโครงการด้านปัจจัยเบี้องต้น ฉบับที่ 3 แบบประเมินความเหมาะสม ด้านกระบวนการดำเนินงาน และฉบับที่ 4 แบบประเมินความสอดคล้องโครงการ ด้านผลผลิตและการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพจากแบบรายงานผลการประเมินกิจกรรมการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย (X-bar) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และเปรียบเทียบกับเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนจ่านกร้อง ปีการศึกษา 2564 สรุปได้ ดังนี้
ผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนจ่านกร้อง สรุปได้ ดังนี้
1) ผลการประเมินด้านบริบท ในภาพรวม พบว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน
2) ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า ในภาพรวม พบว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน
3) ผลการประเมินด้านกระบวนการ ในภาพรวม พบว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน
4) ผลการประเมินด้านผลผลิตภาพรวม พบว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน
จากผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนจ่านกร้อง ปีการศึกษา 2564 พบว่าการดำเนินงานของโครงการโดยภาพรวมทั้ง 4 ด้าน อยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้านเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input) รองลงมาคือ ด้านบริบท (Context) และด้านผลผลิต (Product) ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ ด้านกระบวนการ (Process)