บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบทของโครงการ ประเมินปัจจัยเบื้องต้น ของโครงการ ประเมินกระบวนการดำเนินงาน และประเมินผลผลิตของโครงการและผลกระทบของโครงการ ผู้ประเมินใช้รูปแบบ CIPP (Context Input Process Product Model) ของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย 1) ผู้อำนวยการสถานศึกษา ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 1 คน 2) รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 1 คน 3) ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 10 คน 4) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 8 คน 5)ผู้ปกครองนักเรียน ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 54 คน รวมกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น จำนวน 74 คน
เครื่องมือที่ใช้คือ แบบสอบถาม จำนวน 4 ชุด ได้แก่แบบสอบถามด้านบริบท แบบสอบถามด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ แบบสอบถามด้านกระบวนการดำเนินงาน และแบบสอบถามด้านผลผลิตของโครงการและผลกระทบของโครงการ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต (¯x) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และค่าร้อยละ (%) และนำผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลแต่ละประเด็นมาทำการสรุปผลการประเมินจากผลการวิเคราะห์ข้อมูล โดยนำค่าเฉลี่ย นำมาคูณกับเกณฑ์ที่กำหนด และข้อมูลตอนที่ 3 ของแบบสอบถามวิเคราะห์เชิงคุณภาพอภิปรายเชิงบรรยาย
สรุปผลการประเมินสรุปได้ดังนี้
การประเมินบริบทของโครงการ ระดับความคิดเห็น ภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (¯x = 4.56 , S.D. = 0.07) โดยมีรายละเอียดแต่ละประเด็นคือ ประเด็นความต้องการจำเป็นของโครงการ ภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (¯x = 4.39 , S.D. = 0.11) ประเด็นความเหมาะสมของวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ภาพรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (¯x = 4.82 , S.D. = 0.14) ประเด็นความเป็นไปได้ของโครงการ ภาพรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (¯x = 4.46 , S.D. = 0.14) ผลการประเมินเมื่อเทียบเกณฑ์การประเมิน ถือว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน ได้คะแนนรวม 13.0 คะแนน จากคะแนนเต็ม 15 คะแนน ซึ่งหมายถึง ผลการประเมิน ด้านบริบทของโครงการอยู่ใน ระดับมาก
ผลจาการประเมินด้านบริบทของโครงการ โดยประเมิน 3 ประเด็น เมื่อเทียบเกณฑ์การประเมินพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากและมากที่สุด จากความคิดเห็นชี้ให้เห็นว่าประเด็นทั้ง 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นความต้องการจำเป็นของโครงการ ประเด็นความเหมาะสมของวัตถุประสงค์และเป้าหมาย และประเด็นความเป็นไปได้ของโครงการ เนื่องจาก สภาพในปัจจุบันด้านแหล่งเรียนรู้ เป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานในการดำรงชีวิตซึ่งรวมถึงในสถานศึกษาที่ต้องดำเนินการให้มีแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอน ผลการประเมินภาพรวมมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของน้ำทิพย์ ม่วงปลอด (2557) ที่ได้ทำการประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะใฝ่รู้ใฝ่เรียนของนักเรียนโรงเรียนบ้านหัวถนน ปีการศึกษา 2557 พบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เช่นเดียวกับงานวิจัยของธงไทย บุตรที (2561) ที่ได้ประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่บูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน ห้วยปลาไหล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 3 ปีการศึกษา 2561 ผลการประเมินด้านบริบท พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด ที่ผลเป็นเช่นนี้เนื่องจากการดำเนินงานการประเมินโครงการในครั้งนี้ ได้ทำการศึกษาข้อมูลสภาพแวดล้อมทั่วไปของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ข้อมูลความต้องการจำเป็น จากผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินงานตามโครงการ นำข้อมูลที่ได้มากำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ วิเคราะห์หาความสอดคล้องของวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อให้มีความสอดคล้องกับเหมาะสมตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นโยบายของสำนักบริหาร งานการศึกษาพิเศษ และนโยบายของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ตรงกับความต้องการพิเศษของผู้เรียนที่มีความพิการประเภทต่างๆ ตลอดจนเพื่อให้ผู้รับผิดชอบในการดำเนินโครงการสามารถปฏิบัติงาน ตามวัตถุประสงค์ของโครงการให้สำเร็จตามกำหนดในทุกกิจกรรมต่อไป
การประเมินปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ ระดับความคิดเห็นภาพรวมอยู่ในระดับมาก (¯x = 4.46 , S.D. = 0.09) โดยมีรายละเอียดแต่ละประเด็นคือประเด็นบุคลากร พบว่าภาพรวมอยู่ในระดับมาก (¯x = 4.36 , S.D. = 0.13) ประเด็นการบริหารจัดการ ภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (¯x = 4.54 , S.D. = 0.16) ประเด็นทรัพยากร ภาพรวมอยู่ในระดับมาก (¯x = 4.49 , S.D. = 0.18) ผลการประเมินเมื่อเทียบเกณฑ์การประเมิน ถือว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน ได้คะแนนรวม 13.0 คะแนน จากคะแนนเต็ม 15 คะแนน ซึ่งหมายถึง ผลการประเมินด้านปัจจัยของโครงการอยู่ใน ระดับมาก
ด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อเทียบเกณฑ์การประเมินพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน 3 ประเด็น ได้แก่ บุคลากร การบริหารจัดการ และทรัพยากร พบว่า อยู่ในระดับ 4 และระดับ 5 หรือระดับมากและมากที่สุด พบว่าผู้รับผิดชอบโครงการมีความรับผิดชอบ ความรู้ ความชำนาญอยู่ในระดับมากที่สุด ครูและบุคลากรให้ความสำคัญและความร่วมมือในการปฏิบัติงาน อีกทั้งผู้บริหารสถานศึกษามีการสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานเป็นอย่างดี จึงทำให้โครงการมีความพร้อมในทุกๆด้าน โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบมีความขยันและ เอาใจใส่ในภารกิจงานในโครงการ อีกทั้งยังมีผู้ปกครองของนักเรียนและชุมชนใกล้เคียงมีส่วนร่วมในการระดมทุนทรัพยากร ทำให้มีวัสดุ อุปกรณ์เพียงพอ เพื่อความสะดวกในการดำเนินการ ทำให้โครงการที่จัดทำขึ้นนั้น มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ มาแอน ใจตรง (2558) ที่ได้ประเมิน ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านใฝ่เรียนรู้ ของนักเรียนโรงเรียนบ้านสน คือความพร้อมของบุคลากร ด้านวัสดุอุปกรณ์และอาคารสถานที่ ด้านงบประมาณ และด้านการบริหารจัดการ ซึ่งโดยภาพรวมผ่านเกณฑ์ภาพรวมและทุกประเด็นตัวชี้วัด ทั้งนี้เพราะการดำเนินงานโครงการ สถานศึกษาเตรียมความพร้อม โดยการสำรวจความเพียงพอและเหมาะสมด้านบุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ อาคารสถานที่ และการได้รับการมีส่วนร่วมของชุมชนในด้านต่าง ๆ จะทำให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
การประเมินกระบวนการดำเนินงาน ระดับความคิดเห็น ภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (¯x = 4.56 , S.D. = 0.10) โดยมีรายละเอียดคือ ประเด็นการวางแผน ภาพรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (¯x = 4.57 , S.D. = 0.16) ประเด็นการดำเนินงาน ภาพรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (¯x = 4.44 , S.D. = 0.15) ประเด็นการประเมินและพัฒนางาน ภาพรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (¯x = 4.66 , S.D. = 0.23) ผลการประเมินเมื่อเทียบเกณฑ์การประเมินถือว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน ได้คะแนนรวม 28.0 คะแนน จากคะแนนเต็ม 30 คะแนน ซึ่งหมายถึง ผลการประเมินด้านกระบวนการโครงการอยู่ในระดับ ระดับมากที่สุด
การประเมินด้านกระบวนการดำเนินงานของโครงการ เมื่อเทียบเกณฑ์การประเมินพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับ 4 และ 5 หรือระดับมากที่สุดและระดับมาก ผลการประเมินระดับความ คิดเห็นด้านกระบวนการดำเนินงานของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด พบว่ามี แผนปฏิบัติการและแผนพัฒนางานอย่างชัดเจนและมีการแต่งตั้งคำสั่งผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานอย่างชัดเจน จึงเป็นที่ยอมรับ และอีกทั้งทุกฝ่ายยังได้มีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินโครงการ ในการดำเนินงานโครงการ ในภาพรวม พบว่า มีการดูแลแหล่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และมีการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า อีกทั้งผู้ปกครอง และชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแล บุคลากรในสถานศึกษามีส่วนร่วมในการประเมินโครงการและเสนอแนะ เชิงสร้างสรรค์ มีการจัดการทำสรุปรายงาน และนำผลการประเมินมาใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาต่อไป รวมถึง มีการนิเทศติดตามจากการดำเนินโครงการ ทำให้มีการแก้ปัญหาได้ทันเวลา และนำผลไปพัฒนาต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของวันเผด็จ มีชัย (2559) ที่พบว่าในภาพรวมผลประเมินด้านกระบวนการ ของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน โรงเรียนเปรมติณสูลานนท์ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นอยู่ในระดับมาก ได้แก่ มีการวางแผนการดำเนินงานโครงการอย่างชัดเจนสามารถปฏิบัติได้ มีการประชุมปรึกษาหารือและชี้แจงรายละเอียดของระบบการดำเนินงานโครงการ และมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ทุกประเภทที่เป็นเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะว่า สถานศึกษาได้วางแผน การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานและการมอบหมายงาน ให้บุคลากร รับผิดชอบและกำกับติดตามดูแลอย่างชัดเจน
การประเมินผลผลิตของโครงการและผลกระทบของโครงการ ระดับความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมายที่ตอบแบบสอบถามที่มีต่อการประเมินโครงการในภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด (¯x = 4.71 , S.D. = 0.13) ประเด็นด้านผลผลิตของโครงการ ภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (¯x = 4.75 , S.D. = 0.11) ประเด็นด้านผลกระทบของโครงการ ภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (¯x = 4.66 , S.D. = 0.21) ผลการประเมินเมื่อเทียบเกณฑ์การประเมิน ถือว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน ได้คะแนนรวม 40 คะแนน จากคะแนนเต็ม 40 คะแนน ซึ่งหมายถึง ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการและผลกระทบของโครงการอยู่ในระดับ 5 หรือ ระดับมากที่สุด
ผลการประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ในภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยมีผลการดำเนินโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด โดยได้คะแนนรวม 94.0 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน และเมื่อพิจารณาถึงรายละเอียด ของประเด็นการประเมินทั้ง 4 ประเด็น พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากและระดับมากที่สุดเช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาประเด็นของด้านการประเมินทั้ง 4 ด้าน จำนวน 11 ประเด็น พบว่า ผ่านเกณฑ์ การประเมินทุกประเด็น ผลการประเมินอยู่ในระดับมากและมากที่สุด
การประเมินด้านผลผลิตของโครงการและผลกระทบของโครงการเมื่อเทียบเกณฑ์การประเมินพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการและผลกระทบของโครงการอยู่ในระดับ 5 หรือ ระดับมากที่สุด ผลของภารกิจการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทำให้สถานศึกษามีแหล่งเรียนรู้อย่างเพียงพอ ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานตามโครงการ นักเรียน มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ มีศักดิ์ แสงศิลา และเอื้อมพรพิชญ์ จันทน์แดง (2560) ที่ได้รายงานผลการดำเนินการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพ ปีการศึกษา 2555 - 2557 กลุ่มโรงเรียนประจักษ์ศิลปาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 พบว่าการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมกระบวนการคิดและการแสวงหาความรู้ ทำให้โรงเรียนมีการพัฒนาห้องสมุดห้องปฏิบัติการต่าง ๆ และเพิ่มเติมเอกสารต่าง ๆ ที่หลากหลาย มีห้องจริยธรรมสำหรับจัดกิจกรรม รวมทั้งมีการจัดบรรยากาศภายในห้องที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ส่งผลให้นักเรียน ครู และชุมชนได้เข้าใช้บริการและศึกษาค้นคว้าแหล่งเรียนรู้ดังกล่าวเพิ่มขึ้น
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้านปัญหางบประมาณไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน ส่งผล ต่อคุณภาพของงาน ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือหน่วยงานอื่นๆ เท่าที่ควร
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1. นำผลที่ได้จากการประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชมาปรับปรุง ส่งเสริมและพัฒนางานให้ประสบความสำเร็จต่อไป
2. เป็นข้อมูลสารสนเทศจากการประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ของนักเรียน ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการวางแผนปรับปรุง ส่งเสริมพัฒนาการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาผู้เรียนของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษามากยิ่งขึ้น
2. เผยแพร่ให้กับศูนย์การศึกษาพิเศษ หรือสถานศึกษาอื่น ๆ ที่มีสภาพบริบทใกล้เคียงกัน เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานการประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วยรูปแบบการประเมิน CIPP (context Input Process product model) ให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา สามารถนำผลการประเมินโครงการไปเป็นแนวทางในการกำหนด วางแผน แก้ไข ปรับปรุง ส่งเสริม เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในสถานศึกษาต่อไป
ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งต่อไป
1. ควรมีการสร้างเครือข่ายในด้านการประเมินโครงการที่สถานศึกษาจัดขึ้น โดยให้ผู้บริหารสถานศึกษาต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานที่ประสบผลสำเร็จร่วมกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพทางด้านการบริหารสถานศึกษา
2. ควรศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งเรียนรู้ ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนการสอนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน