ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนอนุบาลสุโขทัย อำเภอเมือง
จังหวัด สุโขทัย
ชื่อผู้เขียน นายปริญญา จันทนา
รองผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสุโขทัย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการประเมินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนอนุบาลสุโขทัย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย นักเรียน ครูผู้สอน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ประกอบการ ประจำปีการศึกษา 2564 จำนวน 400 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับการประเมินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนอนุบาลสุโขทัย ตามรูปแบบการประเมิน CIPPI Evaluation Model ที่มุ่งประเมินด้านสภาพแวดล้อม (Context ) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการ (Process) ด้านผลผลิต (Product) และด้านผลกระทบ (Impact) การเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้ศึกษาได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูล จากนักเรียน ครูผู้สอน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ประกอบการ ประจำปีการศึกษา 2564 ได้รับแบบสอบถามกลับคืนมา 400 ฉบับ นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิตและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในครั้งนี้ เป็นแบบสอบถาม จำนวน 2 ฉบับ ฉบับที่ 1) แบบสอบถามความคิดเห็นด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการและด้านผลกระทบของโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนอนุบาลสุโขทัย ฉบับที่ 2) แบบสอบถามความคิดเห็นด้านผลผลิตของโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนอนุบาลสุโขทัย
ผลการประเมินในด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัย ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิตและด้านผลกระทบ พบว่าทุกด้านได้มีการดำเนินการ ผู้เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับการดำเนินการตามโครงการอาหารกลางวันในภาพรวมระดับมาก เมื่อพิจารณาในรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
สรุปผลการประเมินโครงการ
1.ผลการศึกษาความคิดเห็นของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียนและผู้ประกอบการ เกี่ยวกับการดำเนินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนอนุบาลสุโขทัย ในด้านสภาพแวดล้อม (Context Evaluation) พบว่า โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก (x̄ =4.18, S.D. = 0.35)
2. ผลการศึกษาความคิดเห็นของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียนและผู้ประกอบการ เกี่ยวกับการดำเนินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนอนุบาลสุโขทัย ในด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input Evaluation) พบว่า โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก (x̄ =4.01, S.D. = 0.48)
3. ผลการศึกษาความคิดเห็นของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียนและผู้ประกอบการ เกี่ยวกับการดำเนินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนอนุบาลสุโขทัย ในด้านกระบวนการ (Process Evaluation) พบว่า โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก (x̄ =4.07, S.D. = 0.35)
4. ผลการศึกษาความคิดเห็นของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียนและผู้ประกอบการ เกี่ยวกับการดำเนินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนอนุบาลสุโขทัย ในด้านผลกระทบ (Impact Evaluation)) พบว่า โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ( x̄ =4.01, S.D. = 0.39)
5. ผลการศึกษาความคิดเห็นของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียนและผู้ประกอบการ เกี่ยวกับการดำเนินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนอนุบาลสุโขทัย ในด้านผลผลิต (Product Evaluation) พบว่า โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ( x̄ =4.07, S.D. = 0.43)
สรุปได้ว่านักเรียน ครู ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษาและผู้ประกอบการ มีส่วนร่วมกำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการอาหารกลางวัน โดยวัตถุประสงค์ของโครงการอาหารกลางวันเพื่อให้นักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวัน ทุกคน ทุกวัน มีคุณค่าอาหาร ครบ 5 หมู่ ถูกหลักอนามัย ลดการขาดแคลนอาหารกลางวัน หรือขาดสารอาหาร พัฒนาสุขนิสัยและมารยาทในการรับประทานอาหาร บุคลากรและวัสดุอุปกรณ์มีเพียงพอ มีการพิจารณาอาหารก่อนรับประทาน มีการฝึกให้นักเรียนทำความสะอาดสถานที่ จัดเก็บภาชนะ
ผลการดำเนินโครงการอาหารกลางวันได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ นักเรียนมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง รู้จักเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสุขนิสัยที่ดีในการรับประทานอาหาร