ชื่อผลงานวิชาการ การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โรงเรียนเทพศิรินทร์ ปีการศึกษา 2564
ผู้ประเมิน นายกำพล วิลยาลัย รองผู้อำนวยการโรงเรียนเทพศิรินทร์
หน่วยงาน โรงเรียนเทพศิรินทร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1
ปีที่ศึกษา 2565
การประเมินโครงการครั้งนี้เป็นการประยุกต์ใช้การประเมินรูปแบบซิปโมเดล (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีม โดยมีวัตถุประสงค์การประเมินโครงการ เพื่อประเมินความเหมาะสมของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โรงเรียนเทพศิรินทร์ ใน 4 ด้าน คือ ด้านสภาพแวดล้อม (Context : C) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input : I) ด้านกระบวนการ (Process : P) และด้านผลผลิต (Product : P) และประเมินความพึงพอใจของนักเรียนต่อการดำเนินงานโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โรงเรียนเทพศิรินทร์ เก็บข้อมูลเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่าง มีจำนวนทั้งสิ้น 786 คน จำแนกเป็น ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 3 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 5 คน ครู จำนวน 108 คน ผู้ปกครอง จำนวน 335 คน และนักเรียน จำนวน 335 คน กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างของครู ผู้ปกครองและนักเรียนโดยคำนวณจากสูตรขนาดกลุ่มตัวอย่างของยามาเน่ (Yamane) และสุ่มตัวอย่างครู ผู้ปกครองและนักเรียนแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) และเลือกกลุ่มตัวอย่างของผู้บริหารสถานศึกษาและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ มี 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 เป็นแบบสอบถามการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โรงเรียนเทพศิรินทร์ ปีการศึกษา 2564 มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating scale) รวมจำนวนข้อคำถามทั้งสิ้น 50 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ (Reliability) เท่ากับ 0.939 และฉบับที่ 2 เป็นแบบสอบถามการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โรงเรียนเทพศิรินทร์ ปีการศึกษา 2564 มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating scale) รวมจำนวนข้อคำถามทั้งสิ้น 14 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ (Reliability) เท่ากับ 0.853 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โรงเรียนเทพศิรินทร์ ปีการศึกษา 2564 พบว่า
1. ผลการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โรงเรียนเทพศิรินทร์ ปีการศึกษา 2564 ในภาพรวม 4 ด้าน มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ด้านผลผลิต (Product : P) มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ ด้านบริบท (Context : C) มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ด้านปัจจัยการนำเข้า (Input : I) มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ด้านกระบวนการ (Process : P) มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินด้านสภาพแวดล้อม (Context : C) ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ การกำหนดเป้าหมาย วิธีการดำเนินการและระยะเวลาดำเนินการมีความเหมาะสมและปฏิบัติได้จริง มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด ข้อที่มีผลการประเมินต่ำที่สุด คือ การจัดบรรยากาศในการดำเนินงานเหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินโครงการ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก
3. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input : I) ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ มีการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด ข้อที่มีผลการประเมินต่ำที่สุด คือ โรงเรียนมีการวางแผนการใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเพียงพอมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process : P) ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ การเยี่ยมบ้านนักเรียนเพื่อให้ทราบสภาพความเป็นอยู่ทางบ้านของนักเรียน ข้อที่มีผลการประเมินต่ำที่สุด โรงเรียนมีเครือข่ายสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ป้องกัน แก้ไข ส่งเสริมและดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก
5. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product : P) ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ นักเรียนได้รับการปลูกฝังให้มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมอันพึงประสงค์ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด ข้อที่มีผลการประเมินต่ำที่สุด คือ นักเรียนได้รับการส่งเสริมทักษะอาชีพ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก
6. ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียน ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ นักเรียนได้ร่วมกิจกรรมที่เสริมคุณธรรมจริยธรรมและพัฒนาจิตใจ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด ข้อที่มีผลการประเมินต่ำที่สุด คือ นักเรียนได้ร่วมกิจกรรมส่งเสริมทักษะทางอาชีพ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก