บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนชุมพรปัญญานุกูล จังหวัดชุมพร โดยใช้รูปแบบการประเมินซิปป์ (CIPP Model Evaluation) คือ บริบทของโครงการ ปัจจัยนำเข้า กระบวนการดำเนินโครงการ และผลผลิตของโครงการ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้บริหาร ครูและบุคลากรของ โรงเรียนชุมพรปัญญานุกูล จำนวน 57 คน นักเรียน จำนวน 144 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้มี 3 ฉบับ ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม และแบบสังเกตและวิเคราะห์เอกสารโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. การประเมินบริบทของโครงการ พบว่า ลักษณะของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนมีความต้องการจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมในปัจจุบัน และวัตถุประสงค์ของโครงการมีความสอดคล้องกับบริบทของสังคม ส่วนความเป็นไปได้ของโครงการ อยู่ในระดับปานกลาง
2. การประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ พบว่า ความพร้อมและทรัพยากรอยู่ในระดับปานกลาง
3. การประเมินกระบวนการดำเนินโครงการ โดยรวมพบว่าการดำเนินงานด้านนี้อยู่ในระดับปานกลาง โดยครูที่ปรึกษาได้ทำความรู้จักนักเรียนป็นรายบุคคล ทำการคัดกรองนักเรียน รวมทั้งมีการส่งเสริมนักเรียนกลุ่มปกติและนักเรียนกลุ่มเสี่ยงหรือมีปัญหา ป้องกันและแก้ไขปัญหา และส่งต่อนักเรียน
4. การประเมินผลผลิตของโครงการ โดยรวมพบว่าการดำเนินงานด้านนี้อยู่ในระดับปาน
กลาง และคุณลักษณะของนักเรียนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ
จากผลจากการประเมินในแต่ละด้าน ทำให้สามารถสรุปผลการประเมินในภาพรวมได้ว่า
การดำเนินงานโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนนี้ได้ผลในระดับปานกลาง และโครงการมี
ประโยชน์สำหรับนักเรียน โรงเรียนควรจะดำเนินการโครงการนี้ต่อไป