ผู้วิจัย ดอกอ้อ ทอนสูงเนิน
ปีการศึกษา 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายการวิจัยเพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหาด้านการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ สำหรับการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2) พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 3) ทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 4) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 โรงเรียนด่านเกวียนวิทยา ที่กำลังเรียนภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 จำนวน 35 คน โดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีเหมาะสมมากที่สุด ( x̄ = 4.55) 2) แผนการจัดการเรียนรู้ ตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีเหมาะสมมากที่สุด ( x̄=4.71 ) 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.27 ถึง 0.87 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.93 4) แบบทดสอบวัดการคิดวิเคราะห์ มีค่าความยากตั้งแต่ 0.38 ถึง 0.71 มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.46 ถึง 0.76 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.94 5) แบบทดสอบทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีค่าความยากตั้งแต่ 0.36 ถึง 0.70 มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.44 ถึง 0.75 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.93 6) แบบวัดเจตคติต่อวิทยาศาสตร์ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อ rxy (Item total Correlation) ตั้งแต่ 0.30 ถึง 0.66 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.87 7) แบบประเมินผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยการประเมินความพึงพอใจของนักเรียน แบบประเมินมีค่าอำนาจจำแนกรายข้อ rxy (Item total Correlation) ตั้งแต่ 0.32 ถึง 0.73 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.90 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมติฐานใช้
t-test (Dependent Samples)
ผลการวิจัย ปรากฏดังนี้
1. สภาพปัญหาในการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
1.1 จากการสอบถามความคิดเห็นของครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 58 คน พบว่า สภาพปัญหาในการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( x̄= 3.60) และมีประเด็นสภาพปัญหาที่สำคัญ ได้แก่ ครูผู้สอนไม่มีรูปแบบวิธีการสอน/เทคนิคการสอนที่ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ครูผู้สอนไม่แนะนำแหล่งเรียนรู้เพื่อศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เช่น แหล่งเรียนรู้ในชุมชน ที่ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และนักเรียนไม่มีความสามารถในการมองเห็นความสัมพันธ์และเชื่อมโยงความสัมพันธ์สู่การสรุปอย่างสมเหตุสมผล จากการสังเกตและการใช้ความรู้เดิมผสมผสานกับความรู้ใหม่ ไม่สามารถสรุปประเด็นต่าง ๆ และยกเหตุผลประกอบได้
1.2 จากการสัมภาษณ์ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ จำนวน 5 คน เพื่อศึกษาแนวทางในการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ มีการวิเคราะห์ข้อมูลโดยภาพรวม พบว่า ครูดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นครูเป็นศูนย์กลาง ใช้วิธีการสอนแบบบรรยายถ่ายทอดเนื้อหาความรู้ ไม่แสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และไม่จัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ นักเรียนไม่ฝึกการแก้ปัญหา และขาดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ชอบฟังครูอธิบายและจดบันทึกตามที่ครูบอกโดยไม่ต้องคิด กระบวนการในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนไม่น่าสนใจ บรรยากาศการจัดการเรียนการสอนไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ สื่อประกอบการเรียนการสอนไม่หลากหลาย ไม่ได้นำแหล่งเรียนรู้ในชุมชนมาใช้เป็นสื่อในการจัดการเรียนการสอน ผู้เรียนไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และไม่ประสงค์แสดงความคิดเห็น หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน หรือร่วมกันทำงานเป็นกลุ่มกับเพื่อน แต่มุ่งฟังการบรรยายเพื่อให้จบเนื้อหา และอุปกรณ์การทดลองไม่เพียงพอ เน้นสอนภาคทฤษฎี ไม่เน้นกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และการวัดผลประเมินผลไม่หลากหลาย
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พบว่า ได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐานที่มีชื่อเรียกว่า SCIENCE Model ซึ่ง มีกระบวนการจัดการเรียนรู้ 7 ขั้นตอนได้แก่
(1) ขั้นกระตุ้นการเรียนรู้ (Stimulus)
(2) ขั้นการเรียนรู้จากชุมชน (Community)
(3) ขั้นการสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry)
(4) ขั้นอธิบาย ขยายความ (Explanation)
(5)ขั้นสร้างเครือข่ายความรู้ (Network)
(6) ขั้นสรุปองค์ความรู้ (Concept)
(7) ขั้นประเมินผล (Evaluate)
รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่พัฒนาขึ้นมีความเหมาะสมตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ โดยภาพรวมอยู่ในระดับความเหมาะสมมากที่สุด
( x̄= 4.55) และแผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄ =4.71)
3. ผลทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปรากฏผล ดังนี้
3.1 ประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีค่าเท่ากับ 82.85 / 80.42 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือ 80/80
3.2 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.3 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีผลการประเมินการแก้ปัญหา หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.4 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.5 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีเจตคติต่อวิทยาศาสตร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ผลประเมินผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจ ต่อการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 อยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด ( x̄= 4.56)