ชื่อเรื่องวิจัย การพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
ชื่อผู้วิจัย นางสาวนิติภรณ์ กลิ่นมาลี
ปีที่วิจัย 2564
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เป็นการวิจัยเชิงผสมผสาน เน้นการวิจัยและพัฒนา โดยการมีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ศึกษาได้แก่ ผู้บริหาร ครู นักเรียน และผู้ปกครอง
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพและปัญหาแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนทั้งด้านวิชาการและด้านส่งเสริมวิชาการ ได้แก่ ห้องเรียน ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องแท็บเล็ท ห้องพยาบาล สวนหย่อมและสวนสัมผัส โรงอาหาร ห้องน้ำ พบว่า มีการจัดแหล่งเรียนรู้เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ แต่ยังไม่เกิดประสิทธิภาพ ขาดการดูลเอาใจใส่ขาดสื่ออุปกรณ์ สถิติผู้เข้าใช้บริการน้อย สภาพห้องเรียนหรือแหล่งเรียนรู้ไม่สะอาด แสงไม่พอวัสดุครุภัณฑ์ในห้องชำรุด ป้ายนิเทศไม่เป็นปัจจุบัน เช่น ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องแท็บเล็ท ส่วนแหล่งเรียนรู้สนับสนุนด้านวิชาการ ได้แก่ ห้องพยาบาล สวนหย่อมและสวนสัมผัส โรงอาหาร ห้องน้ำ เช่น ห้องพยาบาล และโรงอาหารหลังคาชำรุด ห้องคอมพิวเตอร์และห้องแท็บเล็ทมีพื้นห้องชำรุดเป็นอันตรายต่อนักเรียน ปัญหาคือ ขาดการบริหารจัดการที่ดี ทั้งด้านบุคลากรและด้านงบประมาณ รวมถึงการระดมทุนทรัพยากรทางการศึกษาขาดการมีร่วมของชุมชนและทุกภาพส่วน ครูไม่มีเวลาดูแลรับผิดชอบแหล่งเรียนรู้อย่างเต็มที่ การจัดกิจกรรมส่งเสริมเพื่อกระตุ้นนักเรียนเข้าไปใช้แหล่งเรียนรู้ไม่ต่อเนื่อง ครูยึดติดกับการจัดการเรียนรู้แบบเดิม คือ เน้นสอนแต่ในห้องเรียน เน้นการเรียนแบบท่องจำ
2. แนวทางการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา จากการร่วมประชุมของผู้ร่วมวิจัยมีมติให้พัฒนา 1) การพัฒนาบุคลากร โดยใช้การศึกษาดูงานโรงเรียนต้นแบบด้านการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ 2) การประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 ทั้ง 2 ด้าน คือ แหล่งเรียนรู้ด้านวิชาการ คือ ห้องเรียน ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ห้องแท็บเล็ท และห้องเรียนรู้สนับสนุนวิชาการ คือ ห้องพยาบาล สวนหย่อมและสวนสัมผัส โรงอาหาร และห้องน้ำ 3) การติดตามผลการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยการนิเทศภายใน โดยเน้นครูจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น ครูจัดการเรียนรู้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สอนให้รู้จักคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ วิชาการจัดตารางการเข้าใช้แหล่งเรียนรู้ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างทั่วถึงไม่กระจุกตัวที่ห้องใดห้องหนึ่ง ผลการพัฒนาทั้งด้านวิชาการและด้านสนับสนุนวิชาการ ความพึงพอใจของผู้เข้าใช้บริการแหล่งเรียนรู้ในวงรอบที่ 1 พบว่า หลังการพัฒนา แหล่งเรียนรู้ที่มีการพัฒนามากที่สุด ระดับความพึงพอใจอยู่ที่ระดับมาก เรียงลำดับที่ 1 - 3 คือ ห้องสมุด ห้องเรียน และห้องพยาบาล ส่วนโรงอาหาร ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องแท็บเล็ท สวนหย่อมและสวนสัมผัส และห้องน้ำ ผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัยร่วมกันประชุมมีมติให้ดำเนินการพัฒนาใหม่ให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาทุกขั้นตอน ควบคู่กับการนิเทศภายใน หลักการพัฒนาในวงรอบที่ 2 พบว่า แหล่งเรียนรู้ทุกแหล่งเรียนรู้มีการพัฒนาขึ้น ซึ่งได้เปรียบเทียบความพึงพอใจของกลุ่มผู้ให้ข้อมูล ประเมินระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการแหล่งเรียนรู้ดังกล่าว ระหว่างวงรอบที่ 1 และวงรอบที่ 2 ในภาพรวม มีการพัฒนาขึ้น
3. ผลการติดตามการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนให้เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน พบว่า
3.1 ครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพิ่มขึ้นทราบแนวทางในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนและครูทุกคนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาแหล่งเรียนรู้
ที่ตนเองรับผิดชอบได้ดียิ่งขึ้น
3.2 การดำเนินการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ พบว่า มีการดำเนินการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนโดยปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ ระบบดูแลและสภาพแวดล้อมแต่ละแห่งดีขึ้น จากการประเมินของคณะกรรมการนิเทศ ติดตามโดยรวมอยู่ในระดับมากและผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก และมีสถิติในการเข้ามาใช้บริการแหล่งเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นทุกแหล่งเรียนรู้เช่นกัน
คำสำคัญ : การพัฒนาแหล่งเรียนรู้, การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21, นักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา