บทคัดย่อ
เรื่อง : การส่งเสริมการวิจัยในชั้นเรียนของโรงเรียนโดยใช้กระบวนการนิเทศภายในโรงเรียนชุมชนบ้านพบพระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2
โดย : นางสาวพรทิพย์ ไชยโยทา
ปีที่ทำการรายงาน : พ.ศ. 2564
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ ศึกษารูปแบบการส่งเสริมการวิจัยในชั้นเรียนของโรงเรียนโดยใช้กระบวนการนิเทศภายในโรงเรียนชุมชนบ้านพบพระ วิธีการศึกษา ใช้การศึกษาจากเอกสาร และการใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนโดยผู้วิจัยเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านพบพระ การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีการสนทนาพูดคุย การประชุมระดมความคิดเห็น และสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ รวมทั้งการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมและไม่มีส่วน ประชากรที่ใช้ ได้แก่ บุคลากรในโรงเรียนชุมชนบ้านพบพระ ซึ่งประกอบด้วย ผู้นิเทศ 4 คน ครู จำนวน 67 คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการทำวิจัยในชั้นเรียนของครูในโรงเรียนชุมชนบ้านพบพระ พบว่า ครูยังขาดความรู้ ไม่มีความเข้าใจในการทำวิจัยในชั้นเรียน และขาดที่ปรึกษา และสื่อเอกสารคู่มือให้การค้นคว้าอ้างอิง ครูไม่เห็นประโยชน์ของการวิจัยในชั้นเรียน
2. รูปแบบของการส่งเสริมการทำวิจัยในชั้นเรียนโดยใช้กระบวนการนิเทศภายใน 5 ขั้นตอน มีวิธีการให้ครูมีส่วนร่วมในการวิจัย คือ
2.1 การศึกษาสภาพที่เป็นจริง ปัญหาและความต้องการในการทำวิจัยในชั้นเรียน ใช้ ตัวบ่งชี้จากข้อมูลจากการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้วิจัย ครู ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ การสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อหาสาเหตุของปัญหาของครูในแต่ละคน
2.2 การวางแผนและกำหนดทางเลือก ผู้วิจัยใช้การที่ประชุมร่วมกับครูเพื่อวางแผนและกำหนดกิจกรรมต่างๆ เพื่อใช้ในการส่งเสริมในการทำวิจัยในชั้นเรียนของครู
2.3. การสร้างสื่อและเครื่องมือ ใช้การวิเคราะห์จากกิจกรรมเพื่อสร้างสื่อและเครื่องมือในการส่งเสริมวิจัย
2.4. การปฏิบัติการนิเทศภายในโรงเรียน ได้กำหนดกิจกรรมเพื่อการนิเทศ โดยการประชุม จัดไปทัศนศึกษานอกสถานที่ ให้คำปรึกษาหารือ การสังเกตการสอนในชั้นเรียน แบบมีส่วนร่วม และไม่มีส่วนร่วม และบริการเอกสารวิชาการการวิจัย
2.5 การประเมินผลและรายงานผล โดยใช้การประเมินก่อน ระหว่างและหลังการดำเนินการส่งเสริมการวิจัยในชั้นเรียน และประเมินความพึงพอใจของผู้รับการนิเทศ ประเมินกระบวนการนิเทศภายในโรงเรียน และปัญหา อุปสรรค
3. ผลการใช้รูปแบบการส่งเสริมการวิจัยในชั้นเรียนโดยกระบวนการนิเทศภายใน
พบว่า ครูมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์สอน และเห็นประโยชน์ของการทำวิจัยในชั้นเรียน ครูสามารถวิเคราะห์ปัญหาการวิจัยและเลือกแนวทางในการแก้ปัญหาได้
ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งนี้
ผู้วิจัยมีประเด็นที่ต้องการเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ การปฏิบัติงานในทุกระดับควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องในหน่วยงาน หรือโรงเรียนนั้นๆ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาครู ควรปรับหลักสูตรการพัฒนาครู ให้สามารถปฏิบัติได้จริงและมีการมอบหมายงานหรือติดตามผลการอบรมให้ได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ