บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การเรียนรู้ของนักเรียน โรงเรียนบ้านลานวิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น การประเมินนี้ใช้รูปแบบการประเมินแบบ Balance Scorecard (BSC) มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) เพื่อประเมินความสอดคล้องในมุมมองด้านลูกค้าหรือผู้รับบริการ (Customer Perspective; C) ของโครงการภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การเรียนรู้ 2) เพื่อประเมินความสอดคล้องในมุมมองด้านการดำเนินการภายใน (Internal Perspective; I) ของโครงการภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การเรียนรู้ 3) เพื่อประเมินความสอดคล้องในมุมมองด้านการเรียนรู้และพัฒนาการ (Learning and Growth; L) ของโครงการภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การเรียนรู้ 4) เพื่อประเมินความสอดคล้องในมุมมองด้านการเงิน (Financial Perspective; F) ของโครงการภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การเรียนรู้ และ 5) เพื่อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินโครงการภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การเรียนรู้ โรงเรียนบ้านลานวิทยาคม ดำเนินการในระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 ถึง 31 มีนาคม 2565 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนบ้านลานวิทยาคม จำนวน 5 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 30 คน และนักเรียน จำนวน 30 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 72 คน เป็นการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย 1) แบบประเมินแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) มี 5 ระดับ คือ ระดับความคิดเห็น มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด จำนวน 2 ฉบับ หาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา (Alpha Coefficient) ตามวิธีของครอนบาค (Cronbach) ได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม ฉบับที่ 1 เท่ากับ 0.89 ฉบับที่ 2 เท่ากับ 0.87 และ 2) แบบสัมภาษณ์ชนิดมีโครงสร้าง จำนวน 5 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ค่าร้อยละ (Percentage: %) ค่าเฉลี่ย (Arithmetic Mean:) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation: S.D.)
ผลการประเมินโครงการ พบว่า
1. มุมมองด้านลูกค้าหรือผู้รับบริการ ซึ่งเป็นการประเมินเกี่ยวกับการประเมินผลงาน และการบรรลุผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามโครงการ โดยให้ความสำคัญกับผู้รับบริการมีความพึงพอใจ กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองและนักเรียน มีความคิดเห็นต่อการดำเนินงานโครงการมุมมองด้านลูกค้าหรือผู้รับบริการ ในภาพรวมอยู่ในระดับ มาก
2. มุมมองด้านกระบวนการจัดการภายใน ซึ่งเป็นการประเมินเกี่ยวกับการวางแผนและการจัดการเกี่ยวกับการดำเนินงานตามโครงการ กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองและนักเรียน มีความคิดเห็นต่อการดำเนินงานโครงการมุมมองด้านกระบวนการจัดการภายใน ในภาพรวมอยู่ในระดับ มาก
3. มุมมองด้านการเรียนรู้และพัฒนาการ ซึ่งเป็นการประเมินเกี่ยวกับความสอดคล้องของจุดมุ่งหมาย นโยบาย วัตถุประสงค์ของโครงการและสภาพความต้องการและการพัฒนาสร้างองค์ความรู้และสามารถประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้ กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองและนักเรียน มีความคิดเห็นต่อการดำเนินงานโครงการด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อม ในภาพรวมอยู่ในระดับ มาก
4. มุมมองด้านการเงิน ซึ่งเป็นการประเมินเกี่ยวกับบุคลากร งบประมาณ สื่อทรัพยากร และปัจจัยการสนับสนุนอื่น ๆ ในการดำเนินงานโครงการ กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองและนักเรียน มีความคิดเห็นต่อการดำเนินงานโครงการด้านปัจจัยเบื้องต้น ในภาพรวมอยู่ในระดับ มาก
5. ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ
กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ มีความคิดเห็นว่า ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ
คือ งบประมาณสนับสนุนโครงการไม่เพียงพอ แหล่งเรียนรู้ สื่อ-อุปกรณ์ ที่จะช่วยในการดำเนินกิจกรรมยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักเรียน กลุ่มเป้าหมายได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรจัดหาแหล่งเรียนรู้ สื่อ อุปกรณ์และวัสดุให้นักเรียนสามารถเรียนรู้เป็นรายบุคคลได้ทั่วถึงและหลากหลาย ควรจัดหางบประมาณในการดำเนินโครงการให้เพียงพอ โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชน และพยายามประยุกต์ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ควรสนับสนุนให้บุคลากรที่รับผิดชอบโครงการได้รับการพัฒนา เช่น การอบรม สัมมนาและศึกษาดูงาน