ชื่อเรื่อง : รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรม โดยประยุกต์ใช้รูปแบบซิปโมเดล
(CIPP Model) โรงเรียนป่ากลางมิตรภาพที่ 166
ผู้ประเมิน : นายชลายุทธ์ วิเศษกาศ
ปีที่ประเมิน : ปีการศึกษา 2564
การประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรม โดยประยุกต์ใช้รูปแบบซิปโมเดล
(CIPP Model) โรงเรียนป่ากลางมิตรภาพที่ 166 ผู้ประเมินได้ประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินของสตัฟเฟิลบีม(CIPP Model) โดยมีวัตถุประสงค์ของการประเมินโครงการ 1)เพื่อประเมินความเหมาะสมของบริบทที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ 2)เพื่อประเมินความเหมาะสมของปัจจัยนำเข้าที่ใช้ในการดำเนินงานตามโครงการ 3)เพื่อประเมินความเหมาะสมของกระบวนการดำเนินงานของโครงการ และ 4)เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการ ในเรื่อง คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน จำนวน 8 ด้าน และคุณค่าหรือประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ในการประเมินครั้งนี้ จำนวน 236 คน ประกอบด้วย ครู จำนวน 17 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน นักเรียน จำนวน 103 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 103 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง และใช้ตาราง Krejcie & Morgan เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามแบบตรวจสอบรายการ แบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 5 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ(Percentage) ค่าเฉลี่ย(Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(Standard Deviation)
สรุปผลการประเมิน
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการโรงเรียนคุณธรรมโดยประยุกต์ใช้รูปแบบซิปโมเดล (CIPP Model) โรงเรียนป่ากลางมิตรภาพที่ 166 ระดับความเห็นของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและคณะครูโดยภาพรวมมีความสอดคล้องและเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า หลักการและเหตุผลของโครงการมีความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ โครงการสอดคล้องกับความต้องการของครู ผู้ปกครองและชุมชน
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการโรงเรียนคุณธรรมโดยประยุกต์ใช้รูปแบบซิปโมเดล (CIPP Model) โรงเรียนป่ากลางมิตรภาพที่ 166 ระดับความเห็นของคณะกรรมการการศึกษา
ขั้นพื้นฐานและคณะครูโดยภาพรวมมีความเหมาะสม และความเพียงพออยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า มีแผนการดำเนินงานตามโครงการอย่างชัดเจน มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ ผู้บริหารและครูผู้รับผิดชอบมีความรู้ความเข้าใจและมีความสามารถในการดำเนินโครงการ และบุคลากรในการดำเนินโครงการมีความเหมาะสม
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการโรงเรียนคุณธรรมโดยประยุกต์ใช้รูปแบบซิปโมเดล (CIPP Model) โรงเรียนป่ากลางมิตรภาพที่ 166 ระดับความเห็นของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและคณะครูโดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า มีการกำหนดบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบแก่บุคลากรในการดำเนินโครงการ และดำเนินกิจกรรมโครงการตามแผนและขั้นตอนการดำเนินการที่กำหนดไว้ ในโครงการมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ มีการวางแผนการดำเนินโครงการสู่การปฏิบัติ
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการโรงเรียนคุณธรรมโดยประยุกต์ใช้รูปแบบซิปโมเดล (CIPP Model) โรงเรียนป่ากลางมิตรภาพที่ 166 ระดับความเห็นของคณะครู นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นด้าน พบว่า รักชาติ ศาสนา กษัตริย์ มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือ รักความเป็นไทย อยู่อย่างพอเพียง มีจิตสาธารณะ ซื่อสัตย์สุจริต ความมีวินัย ใฝ่เรียนรู้และมุ่งมั่นในการทำงาน ตามลำดับ
สรุปได้ว่า ผลการประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรมโดยประยุกต์ใช้รูปแบบซิปโมเดล (CIPP Model) โรงเรียนป่ากลางมิตรภาพที่ 166 ด้านบริบทของโครงการ ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ ด้านกระบวนการของโครงการ และด้านผลผลิตของโครงการ เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์การตัดสิน พบว่า ทุกด้านผ่านเกณฑ์การประเมิน
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
จากผลการประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรมโดยประยุกต์ใช้รูปแบบซิปโมเดล (CIPP Model) โรงเรียนป่ากลางมิตรภาพที่ 166 พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน ทั้งด้านบริบทของโครงการด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ ด้านกระบวนการของโครงการ และด้านผลผลิตของโครงการ
ผู้ประเมินมีข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้ ดังนี้
1. โรงเรียนควรกำหนดนโยบายในการพัฒนาคุณธรรม สอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงาน ต้นสังกัด สภาพปัจจุบันปัญหา ความต้องของครู นักเรียน และชุมชน โดยผ่านกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ
2. โรงเรียนควรจัดให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนมากขึ้น โดยให้มี
การปฏิบัติกิจกรรมในกิจวัตรประจำวันประจำสัปดาห์หรือกิจกรรมในโอกาสสำคัญต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และให้นักเรียนเป็นผู้ปฏิบัติกิจกรรมอย่างเต็มที่และสม่ำเสมอ
3. ผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ควรสนับสนุนให้ครู ผู้ปกครองและ
ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดขึ้นในครอบครัว ชุมชน และสังคม เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและมีกระบวนการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมที่ต่อเนื่อง
4. ควรมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับทราบ ตลอดจนควรดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องในลักษณะเดียวกันเพื่อพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเพิ่มเติมขึ้นจากเดิม และ จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนด้านอื่น ๆ ตามที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นควรดำเนินการเพิ่มขึ้น ตามนโยบายของโรงเรียน และหน่วยงานต้นสังกัด
ข้อเสนอแนะในการประเมินโครงการครั้งต่อไป
1. นำผลการประเมินโครงการที่ได้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจ ปรับปรุงแก้ไขในด้านต่าง ๆ ที่ได้ค้นพบ โดยส่งเสริมกิจกรรมที่โรงเรียนสามารถทำได้ดีให้ดียิ่งขึ้นไป และปรับปรุงกิจกรรมที่พบว่ามีผลการประเมินในระดับต่ำ
2.โรงเรียนควรนำกิจกรรมใหม่ๆ ที่ประสบความสำเร็จมาจัดกิจกรรมในการพัฒนาคุณธรรมด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดได้แก่ ความใฝ่เรียนรู้และความมุ่งมั่นในการทำงาน
3. ควรมีการศึกษาเชิงคุณภาพเกี่ยวกับรูปแบบการบริหารโครงการส่งเสริมคุณธรรม
จริยธรรมนักเรียนในโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ที่สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. และสอดคล้องกับคุณธรรมอัตลักษณ์ของโรงเรียน รวมถึงบริบทของโรงเรียน เพื่อให้การดำเนินงานมีความเหมาะสมและเกิดผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินโครงการมากยิ่งขึ้น