ชื่องานวิจัย การพัฒนารูปแบบการแก้ปัญหาน้ำเสียในโรงเรียนอนุบาลชัยภูมิโดยใช้ธนาคารน้ำใต้ดินร่วมกับการบริหารแบบมีส่วนร่วม
ชื่อผู้ทำงานวิจัย นายอนุรักษ์ ศรทอง
ปี 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนารูปแบบการแก้ปัญหาน้ำเสียโดยใช้ธนาคารน้ำใต้ดินร่วมกับการบริหารแบบมีส่วนร่วม โดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา มีวิธีดำเนินการวิจัย 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาและวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน ปัญหา ความต้องการจำเป็นและแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำเสียของโรงเรียนอนุบาลชัยภูมิ โดยใช้แบบสอบถามสภาพปัจจุบัน ปัญหาความต้องการจำเป็นและแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำเสียของโรงเรียนอนุบาลชัยภูมิ เก็บรวบรวมข้อมูลจากหัวหน้างานบริหารทั่วไป จำนวน 1 คน ครูผู้รับผิดชอบงานอาคารสถานที่ จำนวน 1 คนหัวหน้าสายชั้น จำนวน 8 คน และครูผู้สอนสายชั้นละ 5 คน รวมจำนวน 50 คน ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนารูปแบบการแก้ปัญหาน้ำเสียโดยใช้ธนาคารน้ำใต้ดินร่วมกับการบริหารแบบมีส่วนร่วม โดยการสนทนากลุ่ม โดยผู้วิจัยกับครูผู้ร่วมพัฒนารูปแบบการแก้ปัญหาฯ จากนั้นตรวจสอบความเหมาะสมของรายวิชาเพิ่มเติมโดยผู้เชี่ยวชาญ ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการแก้ปัญหาน้ำเสียโดยใช้ธนาคารน้ำใต้ดินร่วมกับการบริหารแบบมีส่วนร่วม โดยดำเนินการสร้างธนาคารน้ำใต้ดินแบบปิด ในบริเวณที่มีปัญหาเสียท่วมขัง 4 จุด ได้แก่ บริเวณหน้าอาคาร MEP จำนวน 1 จุด บริเวณสระว่ายน้ำ จำนวน 1 จุด บริเวณหลังอาคารนิลปัทม์ และบริเวณหลังอาคารปฐมวัย จำนวน 1 จุด เมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือน สำรวจปริมาณน้ำเสียที่ท่วมขังในบริเวณโรงเรียนอนุบาลชัยภูมิ โดยใช้แบบสำรวจฯ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ขั้นตอนที่ 4 การประเมินผลการใช้รูปแบบการแก้ปัญหาน้ำเสียโดยใช้ธนาคารน้ำใต้ดินร่วมกับการบริหารแบบมีส่วนร่วม โดยใช้แบบสอบถามความพึงพอใจของครูและนักเรียน ผลการวิจัยปรากฏ ดังนี้
1. สภาพปัจจุบันและปัญหาน้ำเสียภายในบริเวณโรงเรียนอนุบาลชัยภูมิ โดยรวมอยู่ในระดับมาก แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ปัญหาน้ำท่วมขังในบริเวณโรงเรียน และมีน้ำเสียส่งกลิ่นเหม็น มีปัญหาอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนความต้องการจำเป็นในการแก้ปัญหาน้ำเสีย โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำเสียที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ธนาคารน้ำใต้ดิน
2. ผลการสร้างรูปแบบการแก้ปัญหาน้ำเสียโดยใช้ธนาคารน้ำใต้ดินร่วมกับการบริหารแบบมีส่วนร่วม
2.1 ผลการสนทนากลุ่ม (Focus group)
2.1.1 หลักการและเหตุผล ให้ระบุปัญหาน้ำเสียของโรงเรียนอนุบาลชัยภูมิให้ชัดเจนว่าเกิดขึ้นที่บริเวณใดบ้าง และควรกล่าวถึงความสำคัญของธนาคารน้ำใต้ดินและการบริหารแบบมีส่วนร่วมว่าสามารถนำมาใช้ร่วมกันได้อย่างไร
2.1.2 วัตถุประสงค์ของรูปแบบการแก้ปัญหาฯ มีความเหมาะสมและชัดเจนดี
2.1.3 เป้าหมายของรูปแบบการแก้ปัญหาฯ มีความเหมาะสมและชัดเจนดี
2.1.4 ผังเชื่อมโยงองค์ประกอบสำคัญของรูปแบบฯ มีความเหมาะสมและชัดเจนดี
2.1.5 อุปกรณ์ในการสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน ควรปรับจากยางรถยนต์ เป็นวัสดุเหลือใช้ต่างๆ ภายในโรงเรียน และอุปกรณ์การขุดเจาะพื้น ระบุให้ชัดเจน
2.1.6 วิธีการสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน มีความเหมาะสมและชัดเจนดี
2.2 ผลการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการแก้ปัญหาฯ โดยผู้เชี่ยวชาญ
ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่ารูปแบบการแก้ปัญหาน้ำเสียโดยใช้ธนาคารน้ำใต้ดินร่วมกับการบริหารแบบมีส่วนร่วมโดยรวมมีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายประเด็น พบว่า ทุกประเด็นมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุดเช่นกัน
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการแก้ปัญหาน้ำเสียโดยใช้ธนาคารน้ำใต้ดินร่วมกับการบริหารแบบมีส่วนร่วม ปรากฏว่า ครูและนักเรียน จำนวน 71 คน คิดเป็นร้อยละ 88.75 มีความเห็นว่าปริมาณน้ำเสียที่ท่วมขังในบริเวณโรงเรียนอนุบาลชัยภูมิน้อยลง จำนวน 69 คน คิดเป็นร้อยละ 86.25 มีความเห็นว่ากลิ่นเหม็นของน้ำเสียน้อยลง ทุกคนมีความเห็นว่าสภาพพื้นที่รอบๆ บริเวณที่สร้างธนาคารน้ำใต้ดินสะอาดมากขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น และห้องน้ำใช้งานได้ดีขึ้น
4. ผลการประเมินรูปแบบการแก้ปัญหาน้ำเสียโดยใช้ธนาคารน้ำใต้ดินร่วมกับการบริหารแบบมีส่วน ปรากฏว่า ความพึงพอใจของครูและนักเรียนโรงเรียนอนุบาลชัยภูมิที่มีต่อการใช้รูปแบบการแก้ปัญหาน้ำเสียโดยใช้ธนาคารน้ำใต้ดินร่วมกับการบริหารแบบมีส่วนร่วม โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.76, S.D. = 0.48) เมื่อพิจารณาความพึงพอใจเป็นรายข้อ พบว่า ครูและนักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดทุกประเด็น