บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนสมุทรสาครวุฒิชัย ปีการศึกษา 2564 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ครั้งนี้ใช้รูปแบบการประเมิน IPO Model เป็นการประเมิน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การประเมินปัจจัยนำเข้า (Input) 2) การประเมินกระบวนการ (Process) และ 3) การประเมินผลผลิต (Output) ประชากรที่ใช้ใน การประเมินครั้งนี้เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนสมุทรสาครวุฒิชัย ปีการศึกษา 2564 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 คือ ผู้ให้ข้อมูลด้านปัจจัยนำเข้าและกระบวนการของโครงการ (Input) ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 64 คน กลุ่มที่ 2 ผู้ให้ข้อมูลผลผลิตของโครงการ (Outcome) ได้แก่ 1) ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 64 คน ประเมินมาตรฐานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนสมุทรสาครวุฒิชัย 2) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 1,241 คน ปีการศึกษา 2564 ประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนสมุทรสาครวุฒิชัย เนื่องจากประชากรมีจำนวนไม่มาก ผู้ประเมินจึงใช้ประชากรทั้งหมดเป็นกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการเป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) จำนวน 3 ฉบับ โดยฉบับที่ 1 ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ ฉบับที่ 2 ประเมินกระบวนการของโครงการ ฉบับที่ 3 ประเมินผลผลิตของโครงการ (Outcome) เรื่องการปฏิบัติตามมาตรฐานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนสมุทรสาครวุฒิชัย และฉบับที่ 4 เป็นแบบบันทึกข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (µ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (σ) ผลการประเมินโครงการสรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ (Input) เรื่องความเหมาะสมของทรัพยากร ที่จำเป็นในการดำเนินงานประกอบด้วย 1. ครูและบุคลากรทางการศึกษา 2. งบประมาณ 3. วัสดุอุปกรณ์ อาคารสถานที่ แหล่งเรียนรู้ และ 4. การบริหารจัดการโครงการ ตามความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม คือ ครูและบุคลากรทางการศึกษาในภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก โดยพบว่าทรัพยากรด้านการบริหารจัดการโครงการ มีค่าเฉลี่ยความเหมาะสมมากที่สุด และด้านวัสดุอุปกรณ์ อาคารสถานที่ แหล่งเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ยความเหมาะสมน้อยที่สุด
2. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการ (Process) เป็นการประเมินการดำเนินงานตามวงจรเดมมิ่ง PDCA ประกอบด้วย 1. ขั้นการวางแผนเตรียมการ (Plan) 2. ขั้นดำเนินงานตามแผน (Do) 3. ขั้นประเมินผล (Check) 4. ขั้นสรุปรายงานผลโครงการ (Act) จากการใช้แบบสอบถามระดับการปฏิบัติตามความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม คือ ครูและบุคลากรทางการศึกษาในภาพรวม มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายขั้นตอนตามวงจรเดมมิ่ง PDCA พบว่า การดำเนินงานตามแผน (Do) มีค่าเฉลี่ยการปฏิบัติมากที่สุด โดยพบว่าการดำเนินงานขั้นตอน การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลและการป้องกันและแก้ไขปัญหามีค่าเฉลี่ยการปฏิบัติมากที่สุด และขั้นการวางแผนเตรียมการ (Plan) มีค่าเฉลี่ยการปฏิบัติน้อยที่สุด
3. ผลการประเมินผลผลิตของโครงการ (Outcome) พบว่า
3.1 การประเมินมาตรฐานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนสมุทรสาครวุฒิชัย จากการใช้แบบสอบถามระดับการปฏิบัติตามมาตรฐานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ตามความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม คือ ครูและบุคลากรทางการศึกษาในภาพรวม มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการบริหารจัดการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนมีค่าเฉลี่ยระดับการปฏิบัติมากที่สุด และด้านความสำเร็จของการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนและความปลอดภัยในโรงเรียน/ สถานศึกษา มีค่าเฉลี่ยระดับการปฏิบัติน้อยที่สุด
3.2 การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนสมุทรสาครวุฒิชัย ปีการศึกษา 2564 จากแบบบันทึกข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ในภาพรวมผ่านเกณฑ์บรรลุเป้าหมายทุกรายวิชา เมื่อพิจารณาเป็นรายวิชาพบว่า รายวิชาที่มีร้อยละผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมากที่สุด คือ คณิตศาสตร์ (ร้อยละ 76.90) และรายวิชาที่มีร้อยละผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนน้อยที่สุด คือ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (68.01)
จากผลการประเมินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนสมุทรสาครวุฒิชัย ปีการศึกษา 2564 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรสาคร สมุทรสงคราม โดยภาพรวมพบว่า ประเด็นส่วนใหญ่ในการประเมินอยู่ในระดับ มาก ทำให้ผลการประเมินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนสมุทรสาครวุฒิชัย ผ่านเกณฑ์การประเมินระดับมาก