บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ รายวิชา ส21104 ประวัติศาสตร์ โดยใช้แนวคิดห้องเรียนกลับทาง ร่วมกับการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดแก้ปัญหาและความรับผิดชอบต่อการเรียน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2) พัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหา รายวิชา ส21104 ประวัติศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 3) พัฒนาความรับผิดชอบต่อการเรียน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 4) ศึกษาความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับทางร่วมกับการเรียนรู้เชิงรุก รายวิชา ส21104 ประวัติศาสตร์ กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาล ๓ “ยุติธรรมวิทยา” จำนวน 30 คน ดำเนินการวิจัยโดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ประกอบด้วยวงจรปฏิบัติการ 3 วงจร คือ วงจรปฏิบัติการที่ 1 ใช้แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1-3 วงจรปฏิบัติการที่ 2 ใช้แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 4-6 วงจรปฏิบัติการที่ 3 ใช้แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 7-9 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ดำเนินการปฏิบัติการ คือ แผนการจัดการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับทาง ร่วมกับการเรียนรู้เชิงรุก จำนวน 9 แผน ใช้เวลาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จำนวน 18 ชั่วโมง 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติการ ได้แก่ แบบบันทึกการสะท้อนผล แบบบันทึกการเรียนรู้ 3) เครื่องมือที่ใช้ประเมินผลการปฏิบัติการ ได้แก่ แบบทดสอบวัดทักษะการคิดแก้ปัญหา แบบประเมินความรับผิดชอบต่อการเรียน และแบบสอบถามความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. กิจกรรมการเรียนรู้ รายวิชา ส21104 ประวัติศาสตร์ โดยใช้แนวคิดห้องเรียนกลับทาง ร่วมกับการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดแก้ปัญหาและความรับผิดชอบต่อการเรียน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นเริ่มต้น (the launch phase) เกิดขึ้นภายนอกห้องเรียน เวลา 30 นาที ผู้วิจัยได้อัพโหลดคลิปวิดีโอที่มีความยาวไม่เกิน 15 นาที ใน Facebook ไลน์ และจัดทำเป็นเอกสารใบความรู้สามารถเลือกอ่านแทนการดูคลิปวีดิโอ ผู้วิจัยมีการติดตามนักเรียนให้ตอบคำถามท้ายคลิปและศึกษาด้วยตนเองที่บ้านมาล่วงหน้าหรือนอกเวลาเรียนอย่างสม่ำเสมอ2) ขั้นสำรวจ (the exploration phase) เกิดขึ้นภายนอกห้องเรียน เวลา 30 นาที ผู้วิจัยมอบหมายให้นักเรียนตั้งคำถามโดยไม่ซ้ำกับเพื่อนคนละ 1 คำถาม สร้างเกม ปริศนาคำทาย หรือกิจกรรมอื่น ๆ เกี่ยวกับเนื้อหา รายวิชา ส21104 ประวัติศาสตร์ ลงใน Facebook สำหรับถามเพื่อนหรือให้เพื่อนร่วมในกิจกรรม และเลือกตอบคำถามจากเพื่อนที่อัพบน Facebook พร้อมทั้งบันทึกความรู้ที่ศึกษาลงในแบบบันทึกการเรียนรู้ในรูปแบบความเรียงหรือ Mind Map 3) ขั้นสะท้อนความคิดและการอภิปราย (Reflect and Discussion) เกิดขึ้นภายในห้องเรียน เวลา 30 นาที ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 แบ่งกลุ่มนักเรียน จำนวน 6 กลุ่ม ๆ ละ 5 คน จัดกลุ่มแบบคละความสามารถแต่ละกลุ่มประกอบด้วย คนเก่ง ปานกลาง อ่อน ในจำนวนที่เท่ากัน ให้แต่ละกลุ่มศึกษาใบความรู้ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นและเขียนบันทึกความรู้ที่ศึกษาลงในแบบบันทึก พร้อมกับนำเสนอผลการศึกษาตามความสามารถและความถนัดของสมาชิกกลุ่ม เช่น การแสดงบทบาทสมมติ การเล่นเกม เป็นต้น กิจกรรมที่ 2 ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มสร้างคำถามจากบทเรียนรายวิชา ส21104 ประวัติศาสตร์
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ตามองค์ประกอบของขั้นตอนการแก้ปัญหาใน 4 ขั้น ได้แก่ ระบุปัญหา วิเคราะห์ปัญหา เสนอวิธีแก้ปัญหา และตรวจสอบผลลัพธ์ครูคัดเลือกกลุ่มที่มีผลงานดีที่สุด เขียนลงกระดาษบรุฟนำเสนอปัญหาหน้าชั้นเรียน เพื่อให้เพื่อนกลุ่มอื่นเป็นผู้ตอบและฝึกทักษะการแก้ปัญหา โดยขณะที่นักเรียนสร้างคำถามผู้วิจัยได้ดูแลและให้คำแนะนำแก่นักเรียนอย่างใกล้ชิด 4) ขั้นเข้าใจและเกิดความคิดรวบยอด (Understanding and Conceptualization) เกิดขึ้นภายในห้องเรียน เวลา 30 นาที เป็นขั้นที่ผู้เรียนเกิดความเข้าใจและนำไปสู่การเกิดความคิดรวบยอดและพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหา โดยผู้วิจัยสร้างสถานการณ์ปัญหาตามองค์ประกอบ 4 ขั้น ได้แก่ ระบุปัญหา วิเคราะห์ปัญหา เสนอวิธีแก้ปัญหา และตรวจสอบผลลัพธ์ ที่เกี่ยวกับเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์และใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันของนักเรียน ลงใน Google ฟอร์มส่งให้นักเรียนทางไลน์ ให้ผู้เรียนเป็นผู้ค้นหาคำตอบเพื่อฝึกทักษะการคิดแก้ปัญหาด้วยเทคนิคเพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งนักเรียนจะทำในช่วงเวลาใดก็ได้และสามารถส่งกลับคืนให้ผู้วิจัยได้ทางไลน์
2. หลังจากสิ้นสุดวงจรที่ 3 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีผลทักษะการคิดแก้ปัญหา คะแนนเฉลี่ย 10.03 คิดเป็นร้อยละ 86.61 ผ่านเกณฑ์เกณฑ์ จำนวน 27 คน คิดเป็น ร้อยละ 90.00 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
3. หลังจากสิ้นสุดวงจรที่ 3 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีพฤติกรรมความรับผิดชอบต่อการเรียน คะแนนเฉลี่ย 48.47 คิดเป็นร้อยละ 73.28 ผ่านเกณฑ์เกณฑ์ จำนวน 20 คน คิดเป็นร้อยละ 66.67
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับทาง ร่วมกับการเรียนรู้เชิงรุก รายวิชา ส21104 ประวัติศาสตร์ อยู่ในระดับมาก