บทคัดย่อ
การประเมินโครงการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินซิปป์ (CIPP Model) โรงเรียนชุมชนบ้านโนนสมบูรณ์ (ธนาคารกรุงเทพ 29) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบึงกาฬ ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์
1. เพื่อประเมินโครงการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาโรงเรียนชุมชนบ้านโนนสมบูรณ์ (ธนาคารกรุงเทพ 29) ในภาพรวมและจำแนกรายด้าน 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านบริบท (Context) (2) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) (3) ด้านกระบวนการ (Process) และ (4) ด้านผลผลิต (Output)
2. เพื่อประเมินระดับความคิดเห็นที่มีต่อคุณภาพการจัดการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนชุมชนบ้านโนนสมบูรณ์ (ธนาคารกรุงเทพ 29) ในภาพรวมและจำแนกรายด้าน 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านคุณภาพของผู้เรียน (2) ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ (3) ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหารและครูผู้สอน จำนวน 21 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 14 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 161 คน รวม 196 คน โดยการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างจากตารางสำเร็จรูปของ Krejcie and Morgan (1970 : 607 - 610) และการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling Technique) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ชนิด 5 ระดับตามวิธีของ Likert Scale ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ตอน ดังนี้ ตอนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอนที่ 2 แบบสอบถามเกี่ยวกับความคิดเห็นที่มีต่อโครงการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินซิปป์ (CIPP Model) โรงเรียนชุมชนบ้านโนนสมบูรณ์ (ธนาคารกรุงเทพ 29) ตอนที่ 3 ความคิดเห็นที่มีต่อคุณภาพการจัดการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนชุมชนบ้านโนนสมบูรณ์ (ธนาคารกรุงเทพ 29) และตอนที่ 4 ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ (frequency) ค่าร้อยละ (percentage) ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการประเมินพบว่า
1. การประเมินโครงการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินซิปป์ (CIPP Model) โรงเรียนชุมชนบ้านโนนสมบูรณ์ (ธนาคารกรุงเทพ 29) โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก โดยด้านกระบวนการ มีระดับการปฏิบัติมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านบริบท และด้านผลผลิต ตามลำดับ สามารถสรุปเป็นรายด้านได้ ดังนี้
1.1 ด้านบริบท (Context Evaluation) พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อจำแนกเป็นรายการ พบว่า สถานศึกษามีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาได้อย่างชัดเจนมากที่สุด รองลงมาคือวัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และโครงการมีประโยชน์ต่อการพัฒนาหน่วยงานและมีประโยชน์ต่อการพัฒนานักเรียน ตามลำดับ
1.2 ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อจำแนกเป็นรายการ พบว่า ระยะเวลาในการดำเนินโครงการมีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือครูและบุคลากรที่รับผิดชอบโครงการให้ความร่วมมือกับโครงการเป็นอย่างดี และสถานศึกษามีการประชุมชี้แจงเพื่อแก้ปัญหาในการทำงานและพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ตามลำดับ
1.3 ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อจำแนกเป็นรายการ พบว่า สถานศึกษามีการจัดทำข้อมูลพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษามากที่สุด รองลงมาคือมีการแต่งตั้งคณะกรรมการในการดำเนินงานการประกันคุณภาพมีความเหมาะสมเท่ากัน โดยบุคลากรทุกฝ่ายได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในการปรับปรุงแผนพัฒนาการศึกษา และมีการกำหนดเป้าหมายของแต่ละมาตรฐานของการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาได้อย่างเหมาะสม ตามลำดับ
1.4 ด้านผลผลิต (Product Evaluation) พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อจำแนกเป็นรายการ พบว่า สถานศึกษามีการรายงานผลการประเมินตนเองต่อหน่วยงานต้นสังกัด สาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อสิ้นปีการศึกษามากที่สุด รองลงมาคือสถานศึกษามีการประกาศมาตรฐานการศึกษาและค่าเป้าหมายความสำเร็จ ให้กลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกรับทราบ และสถานศึกษาดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาและนโยบายการศึกษา ตามลำดับ
2. ระดับความคิดเห็นที่มีต่อคุณภาพการจัดการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนชุมชนบ้านโนนสมบูรณ์ (ธนาคารกรุงเทพ 29) โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก โดยกลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นว่าคุณภาพการจัดการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการมีคุณภาพมากที่สุด รองลงมาคือด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และด้านคุณภาพผู้เรียน ตามลำดับ สามารถสรุปเป็นรายด้านได้ ดังนี้
2.1 ด้านคุณภาพผู้เรียน โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อจำแนกเป็นรายการ พบว่าความสามารถในการอ่าน การเขียน การสื่อสารและการคิดคำนวณตามเกณฑ์ของแต่ละระดับชั้นมากที่สุด รองลงมาคือมีความภูมิใจในท้องถิ่นและความเป็นไทย และมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตามลำดับ
2.2 ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อจำแนกเป็นรายการ พบว่า โรงเรียนมีเป้าหมายวิสัยทัศน์และพันธกิจที่สถานศึกษากำหนดชัดเจนมากที่สุด รองลงมาคือมีการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และมีการจัดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้ ตามลำดับ
2.3 ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อจำแนกเป็นรายการ พบว่า มีการใช้สื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศ และแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้มากที่สุด รองลงมาคือมีการตรวจสอบและประเมินผู้เรียนอย่างเป็นระบบ และนำผลมาพัฒนาผู้เรียน และมีการจัดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดและปฏิบัติจริง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ ตามลำดับ