ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโรงเรียนท่าบ่อ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาหนองคาย
ชื่อผู้วิจัย นายจีระพัฒน์ ศรีน้อย
หน่วยงาน โรงเรียนท่าบ่อ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาหนองคาย
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโรงเรียนท่าบ่อ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาหนองคาย โดยประยุกต์ใช้การประเมินผลรูปแบบซิปโมเดลใน 4 ด้าน คือ ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต กลุ่มผู้ให้ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยคือ ผู้บริหาร ครูผู้สอน นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนทั้งสิ้น 150 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ และแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโรงเรียนท่าบ่อ แบบสอบถามทั้ง 3 ฉบับ มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า ฉบับที่ 1 สำหรับผู้บริหาร และครูผู้สอน โดยมีค่าอำนาจจำแนกรายข้อตั้งแต่ 0.35 ถึง 0.89 ค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.82 ฉบับที่ 2 สำหรับผู้ปกครองนักเรียน และกรรมการสถานศึกษา โดยมีค่าอำนาจจำแนกรายข้อตั้งแต่ 0.30 ถึง 0.86 ค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.91 ฉบับที่ 3 สำหรับนักเรียน โดยมีค่าอำนาจจำแนกรายข้อตั้งแต่ 0.34 ถึง 0.88 ค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.95 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าเฉลี่ยร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์และสรุปประเด็นสำคัญจากการสัมภาษณ์
ผลการวิจัยพบว่า
1. ด้านบริบท พบว่า ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์ของโครงการ ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติและชุมชนให้การยอมรับต่อกิจกรรมของโครงการ โดยภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.79) ด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า ความพร้อมและเพียงพอของบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ เวลา และงบประมาณ โดยภาพรวมการประเมินอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.31) ด้านกระบวนการพบว่า การบริหารจัดการ การดำเนินการจัดกิจกรรมและการวัดประเมินผล โดยภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.79) ด้านผลผลิต พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย ของนักเรียนโรงเรียนท่าบ่อ โดยภาพรวม ผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.71)
2. ผลจากการประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโรงเรียนท่าบ่อ จากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แนวทางการส่งเสริมการจัดกิจกรรมของสถานศึกษาใน 4 ด้าน คือ ด้านบริบท ส่งเสริมให้ชุมชนยอมรับกิจกรรมของโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโรงเรียนท่าบ่อ ด้านปัจจัยนำเข้า ส่งเสริมให้มีการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน ด้านกระบวนการ ส่งเสริมให้มีการประสานงานการให้ความช่วยเหลือระหว่างโรงเรียน ชุมชน หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ด้านผลผลิต ส่งเสริมให้นักเรียนสามารถใช้ทักษะภาษาไทยเพื่อสร้างนิสัยรักการอ่าน
คำสำคัญ : การประเมินโครงการ ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน