เรื่อง รายงานผลการประเมินโครงการสถานศึกษาปลอดภัยของโรงเรียนวัดนางสาว (ถาวรราษฎร์บำรุง) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร ปีการศึกษา 2564
ชื่อผู้วิจัย นางสาวพีรญา เมฆสงค์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนวัดนางสาว (ถาวรราษฎร์บำรุง)
ปีที่ประเมิน ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการสถานศึกษาปลอดภัยของโรงเรียนวัดนางสาว (ถาวรราษฎร์บำรุง) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร ปีการศึกษา 2564 ใช้รูปแบบการประเมินของ ไอพีโอ (IPO Model) ของสมหวัง พิริยานุวัฒน์ (2551: 202-209) ซึ่งเป็นการประเมิน 3 ด้าน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ประเมินด้านกระบวนการ (Process) และประเมินด้านผลผลิต (Output) ประชากรกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินได้มาโดยการกำหนดของกลุ่มตัวอย่างจากการเปิดตารางสำเร็จรูปของเครจซี่ และมอร์แกน สุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) ได้กลุ่มตัวอย่างรวมทั้งหมด 331 คน ประกอบด้วย ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 79 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นอนุบาล 2 มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 180 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 136 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผู้ประเมินได้ใช้เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) และด้านผลผลิต (Output Evaluation) จำนวน 3 ฉบับ โดยที่ฉบับที่ 1 แบบสอบถามประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ฉบับที่ 2 แบบประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) และฉบับที่ 3 แบบประเมินด้านผลผลิต (Output Evaluation) เกี่ยวกับความพึงพอใจผลการดำเนินของโครงการ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาร้อยละ (Percentage) การหาค่าเฉลี่ย (µ) (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (σ) (Standard Deviation)
ผลการประเมิน โดยสรุปมีดังนี้
1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input) โดยภาพรวมมีความเหมาะสมและเพียงพออยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า โรงเรียนได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ จากหน่วยงานต้นสังกัด องค์กรภายนอก และภาคีเครือข่ายต่างๆ อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ โรงเรียนมีอาคารสถานที่ที่ปราศจากจุดเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้ อยู่ในระดับมากที่สุด และฝ่ายบริหารได้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี และ มีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับหลักความปลอดภัย อยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อจากข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ทั้งนี้อันเนื่องมาจาก เป็นโรงเรียนในโครงการสถานศึกษาปลอดภัย ซึ่งเป็นนโยบายที่โรงเรียนให้ความสำคัญ จึงมีการเตรียมและจัดหาด้านปัจจัยให้มีความพร้อมทั้งทางด้านคน วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณ และอื่น ๆ นอกจากนี้ยังอาจได้รับความร่วมมือ ช่วยเหลือ สนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้องในหลาย ๆ รูปแบบ ส่งผลให้การประเมินด้านปัจจัยของโครงการมีความพร้อมอยู่ในระดับมาก
2. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการประเมินด้านกระบวนการ (Process) โดยภาพรวมมีการปฏิบัติ อยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า โรงเรียนได้ทำการติดตั้งถังดับเพลิงติดตั้งไว้ทุกอาคารเรียนและสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้อย่างเพียงพอ อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ โรงเรียนมีการจัดทำประกาศหรือคำสั่งเกี่ยวกับนโยบายความปลอดภัยของ สถานศึกษา อยู่ในระดับมากที่สุด และโรงเรียนมีการระบุรายละเอียดกิจกรรม ระยะ เวลาดำเนินการ และงบประมาณที่ชัดเจน ครูและบุคลากรของโรงเรียนรับทราบทั่วกัน อยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ จากข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด อาจเนื่องมาจาก มีการดำเนินการตามระบบ PDCA มีการวางแผนการดำเนินการ และนำสู่การปฏิบัติโดยจัดทำเป็นโครงการ มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ มีการกำหนดขั้นตอน และมีการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์แก่ผู้เกี่ยวข้อทราบโดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกปฏิบัติแก่นักเรียนอย่างทั่วถึงและมีความต่อเนื่อง มีการนิเทศ กำกับ ติดตามการดำเนินกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้การประเมินด้านกระบวนการของโครงการมีการดำเนินการอยู่ในระดับ มาก
3. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการประเมินด้านผลผลิต (Product) โดยภาพรวมมีการปฏิบัติ อยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า โรงเรียนมีห้องพยาบาลและเวชภัณฑ์สามัญประจำบ้าน สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง และทันต่อเหตุการณ์ อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ โรงเรียนมีการจัดเก็บอุปกรณ์ที่อันตราย เช่น เครื่องจักร เครื่องมือ เป็นอย่างดี ในพื้นที่ปลอดภัย อยู่ในระดับมากที่สุด และโรงเรียนมีจุดให้บริการน้ำดื่มสะอาดแก่นักเรียนอย่างเพียงพอ และทั่วถึง อยู่ในระดับ มาก ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ จากข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด อาจเป็นเพราะว่า การจัดโครงการ กิจกรรมด้านความปลอดภัยเป็นเรื่องใกล้ตัวผู้เรียน อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา กิจกรรมโครงการที่ส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาปลอดภัยของโรงเรียน น่าสนใจเป็นเรื่องทันยุค ทันสมัยในปัจจุบัน การให้คำที่ปรึกษาที่ถูกต้องและกิจกรรมเสริมสร้างทักษะป้องกันตนเองให้ปลอดภัย ทำให้ครูได้เข้าใจและเห็นคุณค่าของความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันนักเรียนที่ได้รับการปลูกฝังการดูแลรักษาความปลอดภัยของตนเองก็ย่อมจะซึมชับเข้าไปในจิตใจทีละเล็กละน้อยโดยไม่รู้ตัว จึงส่งผลให้ความพึงพอใจผลการดำเนินของโครงการของผลการประเมินด้านผลผลิตของการประเมินโครงการสถานศึกษาปลอดภัยอยู่ในระดับมาก
ข้อเสนอแนะเพื่อทำการประเมินโครงการสถานศึกษาปลอดภัยครั้งต่อไป
1. ควรมีการศึกษาวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการสถานศึกษาปลอดภัยที่ได้รับรางวัลดีเด่น ติดต่อกันจนได้รับโล่เชิดชูเกียรติ เพื่อนำกระบวนการดังกล่าว มาใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินงานโครงการสถานศึกษาปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ
2. ควรศึกษาผลการดำเนินการโครงการในรูปแบบการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์
3. ควรมีการประเมินโครงการ โดยใช้รูปแบบการประเมินอื่น เช่น CIPP เพื่อให้ได้สารสนเทศที่หลากหลาย สำหรับนำมาใช้ในการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานโครงการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
4. ควรมีการประเมินโครงการด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวกับผู้เรียนในระดับที่สูงขึ้น เช่น ระดับ เทศบาล อำเภอ หรือจังหวัด