แนวคิด ความเป็นมา
ระบำนกเขาชวา เป็นนาฏศิลป์สร้างสรรค์โดย นางสาวฉนันท์นภัส มีบุญ ตำแหน่งครู วิทยฐานะชำนาญการ โรงเรียนบ้านนา จังหวัดสงขลา คิดประดิษฐ์รูปแบบการแสดง ทำนองเพลง ท่ารำ สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ เนื่องจากได้พบปัญหาพบเจอปัญหาในชั่วโมงเรียนนาฏศิลป์ ซึ่งนักเรียนเรียนร่วมกัน ทั้งนักเรียนไทยพุทธและนักเรียนอิสลาม นักเรียนขาดความตระหนักถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยและ ความเป็นท้องถิ่นภูมิปัญญา อีกทั้งชั่วโมงการจัดการเรียนการสอนนาฏศิลป์ที่ผ่านมามีเวลาในการจัดการเรียน การสอนสำหรับการสร้างความรู้และการฝึกปฏิบัติน้อย ผู้รายงานจึงเห็นคุณค่าของการที่จะนำความรู้ มาสร้างสรรค์ มาปรับใช้ให้เหมาะกับการแก้ปัญหาและเวลาในการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาความรู้และทักษะในการรำนาฏศิลป์ไทยสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ โรงเรียนบ้านนา โดยใช้ชุดนาฏศิลป์สร้างสรรค์ ระบำนกเขาชวา เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอน ผู้รายงานจึงได้ศึกษาทฤษฎีและแนวคิดที่จะช่วยพัฒนาให้นักเรียนให้ได้เรียนรู้และปฏิบัติจริงในรูปแบบนาฏศิลป์สร้างสรรค์ โดยดำเนินการศึกษาประวัติความเป็นมาของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พบว่าอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นเมืองพหุวัฒนธรรมที่มีทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกัน มีการนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดอำเภอหนึ่งในจังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ๆมีความโดดเด่นในการเลี้ยงนกเขาชวาอย่าแพร่หลาย โดยเฉพาะ ในตำบลบ้านนาแทบทุกครัวเรือนได้มีการเลี้ยงนกเขาชวา ทำให้ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นเป็นที่รู้จักของสังคมอย่างกว้างขวาง และด้วยความแตกต่างด้านความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรม ผู้รายงายจึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำเอาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวอำเภอจะนะ มาคิดสร้างสรรค์เอกสารประกอบการเรียนให้แก่นักเรียนในชั้นเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 2 โดยได้นำพื้นฐานการแสดงนาฏศิลป์ที่มีอยู่มาปรับปรุงและประยุกต์ใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทย อีกทั้งยังสอดคล้องกับศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น ภูมิปัญญาการเลี้ยงนกเขาชวาของชาวบ้าน ความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายตามหลักศาสนาและวัฒนธรรม การแสดงชุด ระบำนกเขาชวา ได้ถ่ายทอดลักษณะอันโดดเด่นของนกเขาชวาที่เป็นของดีเมืองจะนะ จังหวัดสงขลา และชาวบ้านมีความนิยมเลี้ยงกันมากทำให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์ของชาวบ้านเป็นอย่างดีท้ามกลางสถานการณ์อันไม่สงบของจังหวัดชายแดนใต้ นอกจากเลี้ยงไว้ดูเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน ฟังเสียงร้องแล้วนั้น ยังเป็นการเลี้ยงเชิงเศรษฐกิจสร้างอาชีพให้กับชาวบ้าน สร้างชื่อเสียงให้กับผู้เลี้ยงจากการแข่งขันประชันเสียงอันสดใส ทำให้เป็นที่โด่งดัง ซึ่งอำเภอจะนะมีชื่อเสียงในการเลี้ยงนกเขาชวาไปจนถึงระดับอาเซียน
กรอบแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานการแสดง
1. การเลียนแบบลักษณะธรรมชาติพฤติกรรมต่าง ๆ ของนกเขาชวาอันงดงาม
2. การกำหนดเครื่องแต่งกายสื่อถึงลักษณะสีสันที่ชัดเจนของนกเขาชวา ดังนี้
2.1 เครื่องประดับศีรษะ เป็นหัวนกเขาชวา เพื่อสื่อความโดดเด่นที่ชัดเจน
2.2 กรอกคอขนนก ใช้สีที่สื่อถึงลักษณะของสีขนของนกเขาชวา
2.3 เสื้อ กำหนดให้ตัวเสื้อเป็นสีของขนนก โดยนำผ้าลูกไม้สีดำมาตกแต่งให้เป็นเสมือนขนของนกเขาชวาสีดำที่แซมอยู่ในขนนกสีต่างๆ ตัดแต่งแขนเสื้อสื่อเป็นปีกของนกเขาชวา
2.4 กางเกง ใช้แทนขาของนกเขา
2.5 ผ้านุ่งลายพื้นเมือง ใช้สื่อให้เห็นลักษณะความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของพื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้
2.6 เครื่องประดับ ใช้เป็นโทนสีขาวเพื่อให้สอดคล้องกับความสวยงามของลักษณะสีขนของนกเขาชวาที่มีสีขาว สีดำ สีเทา และสีน้ำตาลอ่อน
3. เพลงที่ใช้ประกอบการแสดงนาฏศิลป์สร้างสรรค์ ชุด ระบำนกเขาชวา ได้คิดเรียบเรียงทำนองเพลงขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับรูปแบบการการแสดง โดยใช้เครื่องดนตรีภาคใต้ตอนล่างในการบรรเลง แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น
การดำเนินการสร้างสรรค์ผลงานตามขั้นตอน กระบวนการกลุ่มอย่างเป็นระบบโดยละเอียด
ผู้รายงานผลงานดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลในการสร้างสรรค์ผลงานนาฏศิลป์สร้างสรรค์ ชุด ระบำนกเขาชวา ดังนี้
1.1 ศึกษาข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับนกเขาชวาในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
1.2 สัมภาษณ์ผู้ที่มีความรู้ความเข้าในในการเลี้ยงนกเขาชวาในเขตเทศบาลตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
1.3 เก็บบันทึกข้อมูลจากการสังเกตพฤติกรรมของนกเขาชวา โดยการบันทึกภาพและบันทึกเสียง
1.4 วิเคราะห์เชิงพรรณนา โดยประมวลข้อมูลจากเอกสาร การสัมภาษณ์ และการสังเกตพฤติกรรมของนกเขาชวา จากนั้นคิดประดิษฐ์ท่ารำเลียนแบบลักษณะธรรมชาติพฤติกรรมต่างๆ ของนกเขาชวา โดยนำเอานาฏยศัพท์และภาษาท่าพื้นฐานทางนาฏศิลป์ มาประดิษฐ์ท่ารำขึ้นใหม่ให้เกิดความอ่อนช้อยและสวยงาม เพื่อสร้างสรรค์นาฏศิลป์ ชุด ระบำนกเขาชวา
1.5 รูปแบบการแสดง ได้สร้างสรรค์การแสดงชุด ระบำนกเขาชวา โดยนำกระบวนท่าทางที่คิดประดิษฐ์ท่ารำอวดลวดลายลีลาเลียนแบบลักษณะธรรมชาติพฤติกรรมต่างๆ ของนกเขาชวา โดยนำเอานาฏยศัพท์และภาษาท่าพื้นฐานทางนาฏศิลป์มาประดิษฐ์ท่ารำขึ้นใหม่ ซึ่งมีรูปแบบการแสดง 3 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 แดดอุ่นรุ่งอรุณอวดโฉมสวย ลีลาท่ารำแสดงเลียนแบบพฤติกรรมของนกเขาชวาเมื่อออกอาบแดดยามเช้าตรู่
ช่วงที่ 2 นกเขาชวาเริงระบำ การสื่อของท่ารำช่วงนี้จะเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆ ของนกเขาชวา เช่น การบิน การขัน การไซร้ขน การเดิน เป็นต้น
ช่วงที่ 3 เสน่ห์นกเขาชวาถิ่นจะนะ ลักษณะท่ารำแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ความงดงามในสีสันของขน ปีก รูปร่าง และการเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่วของตัวนกเขาชวา
1.6 รูปแบบแถว กำหนดให้มีการแปรแถวให้หลากหลาย เพื่อโชว์ลีลาการแสดงที่งดงามอ่อนช้อยของผู้แสดงที่ได้ถ่ายทอดท่ารำการเลียนแบบพฤติกรรมของนกเขาชวาในช่วงต่างๆ
1.7 ผู้แสดง กำหนดใช้ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน
1.8 ทำนองเพลง ผู้สร้างสรรค์ได้คิดเรียบเรียงทำนองเพลงขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับรูปแบบการการแสดง โดยใช้เครื่องดนตรีภาคใต้ตอนล่างในการบรรเลง แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นของชาวจังหวัดชายแดนใต้
1.9 การแต่งกาย ออกแบบการแต่งกายให้สวยงามแสดงเอกลักษณ์และลักษณะสีสัน ที่ชัดเจนของนกเขาชวา
สรุปผลการดำเนินงาน/อภิปรายผลการดำเนินงาน
ผู้รายงายได้ดำเนินงานอย่างเป็นระบบ โดยได้ทำการศึกษาข้อมูลของนกเขาชวาในพื้นที่ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จากการศึกษาข้อมูล การสัมภาษณ์ การสังเกตพฤติกรรมของนกเขาชวา จึงได้นำเอาลักษณะพฤติกรรมของนกเขาชวามาประดิษฐ์คิดค้นเพื่อเลียนแบบลักษณะธรรมชาติของนกเขาชวา โดยใช้นาฏยศัพท์และภาษาท่าพื้นฐานทางด้านนาฏศิลป์มาประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะพฤติกรรมของนกเขาชวา มีรูปแบบและลักษณะการแปรแถวที่หลากหลาย เพื่อโชว์ลีลาลวดลายของ การแสดง อีกทั้งได้เรียบเรียงทำนองเพลงขึ้นใหม่เพื่อแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นของจังหวัดชายแดนใต้ และผู้สร้างสรรค์ได้คิดออกแบบการแต่งกายที่งดงามสื่อให้เห็นถึงลักษณะของนกเขาชวาอันมีสีสันโดดเด่นชัดเจนของนกเขาชวา
จากการคิดประดิษฐ์สร้างสรรค์การแสดงชุด ระบำนกเขาชวา ทำให้ผู้รายงานและผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดกระบวนท่ารำที่งดงาม เห็นคุณค่าความสำคัญของท้องถิ่นในพื้นที่ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นอย่างมาก อีกทั้งเกิดความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมกันสืบสานความเป็นเอกลักษณ์ที่เกิดจากผลงานการแสดงชุดนี้เป็นอย่างยิ่ง
ผลที่เกิดกับผู้เรียน
1. เอกสารประกอบการเรียน ชุด นาฏศิลป์สร้างสรรค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระนาฏศิลป์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.55/83.71 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ ชุด นาฏศิลป์สร้างสรรค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระนาฏศิลป์ มีคะแนนผลสัมฤทธิ์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ชุด นาฏศิลป์สร้างสรรค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระนาฏศิลป์ โดยใช้เอกสารประกอบการเรียน โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด