การประเมินโครงการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนชุมชนบ้านกลางนาโน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 3 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความสอดคล้องด้านบริบท (Context) ความพร้อมและความพอเพียงด้านปัจจัยนำเข้า (Input) การดำเนินการด้านกระบวนการ (Process) และผลผลิต (Product) ของโครงการในปีการศึกษา 2564 โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) กลุ่มตัวอย่าง
คือ ครู คณะกรรมการสถานศึกษา นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และผู้ปกครอง รวมจำนวน 415 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ คือ แบบสอบถามความคิดเห็นจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 แบบสอบถามบริบทของโครงการ จำนวน 15 ข้อ ค่าอำนาจจำแนก 0.44 0.92 ค่าความเชื่อมั่น 0.89 ฉบับที่ 2 แบบสอบถามปัจจัยนำเข้าของโครงการ จำนวน 20 ข้อ ค่าอำนาจจำแนก 0.45 0.90 ค่าความเชื่อมั่น 0.90 ฉบับที่ 3 แบบสอบถามกระบวนการดำเนินงานตามโครงการ จำนวน 30 ข้อ ค่าอำนาจจำแนก 0.46 0.92 ค่าความเชื่อมั่น 0.94 ฉบับที่ 4 แบบสอบถามผลผลิตของโครงการ ประกอบด้วย 3 ตอน ดังนี้ ตอนที่ 1 แบบสอบถามผลผลิตด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนจำนวน 45 ข้อ ค่าอำนาจจำแนก 0.45 0.89 ค่าความเชื่อมั่น 0.93 ตอนที่ 2 แบบสอบถามผลผลิตด้านการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน จำนวน 28 ข้อ ค่าอำนาจจำแนก 0.48 0.90 ค่าความเชื่อมั่น 0.92 ตอนที่ 3 แบบสอบถามด้านคุณค่าหรือประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ จำนวน 32 ข้อ
ค่าอำนาจจำแนก 0.46 0.88 ค่าความเชื่อมั่น 0.90 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าคะแนนเฉลี่ย (x̄ ) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D)
ผลการประเมินพบว่า
1. บริบทของโครงการโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และรายข้ออยู่ในระดับมากที่สุด 12 ข้อ และระดับมาก 3 ข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ โครงการมีความเหมาะสมและมีความจำเป็นในการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพนักเรียน และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ การประเมินผลโครงการและตัวชี้วัดความสำเร็จมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ
2. ปัจจัยนำเข้าของโครงการโดยรวมอยู่ในระดับมาก และรายด้านอยู่ในระดับมากที่สุด 2 ด้าน และระดับมาก 2 ด้าน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านบุคลากร รองลงมาตามลำดับ คือ ด้านโครงสร้างการบริหารงานโครงการ ด้านวัสดุอุปกรณ์และอาคารสถานที่ ด้านงบประมาณ และรายข้ออยู่ในระดับมากที่สุด 7 ข้อ และระดับมาก 13 ข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ผู้รับผิดชอบโครงการและกิจกรรมมีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ มีการสนับสนุนงบประมาณ
ในการจัดกิจกรรมจากหน่วยงานอื่น
3. กระบวนการดำเนินงานของโครงการโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และรายด้านอยู่ในระดับมากที่สุด 4 ด้าน และระดับมาก 2 ด้าน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านศึกษาสภาพและทิศทางการดำเนินงาน รองลงมาตามลำดับ คือ ด้านวางแผนการดำเนินงานจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ด้านนิเทศ กำกับ ติดตาม ด้านดำเนินการตามแผนที่กำหนด ด้านประเมินเพื่อทบทวนการดำเนินงาน ด้านสรุปรายงานและประชาสัมพันธ์ และรายข้ออยู่ในระดับมากที่สุด 19 ข้อ และระดับมาก 11 ข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ มีการวางแผนขั้นตอนการดำเนินงานที่ชัดเจน และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ เผยแพร่และประชาสัมพันธ์โครงการต่อสาธารณชน
4. ผลผลิตของโครงการ ดังนี้
4.1 ผลผลิตด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และรายด้านอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านใฝ่เรียนรู้ รองลงมาตามลำดับ คือ ด้านอยู่อย่างพอเพียง ด้านมุ่งมั่นในการทำงาน ด้านมีวินัย ด้านรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ด้านซื่อสัตย์สุจริต ด้านมีจิตสาธารณะ ด้านรักความเป็นไทย และรายข้ออยู่ในระดับมากที่สุด 42 ข้อ และระดับมาก 3 ข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ใช้ทรัพย์สิน เงิน สิ่งของ และเครื่องใช้ของตนเองอย่างประหยัด คุ้มค่า และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ยอมรับและปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
4.2 ผลผลิตด้านการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
และรายด้านอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล รองลงมาตามลำดับ คือ ด้านการคัดกรองนักเรียน ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหานักเรียน ด้านการส่งเสริมและพัฒนานักเรียน ด้านการส่งต่อนักเรียน และรายข้ออยู่ในระดับมากที่สุด 23 ข้อ และระดับมาก 5 ข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ครูประจำชั้นมีการเยี่ยมบ้านนักเรียน และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ มีการรายงานแจ้งผลการช่วยเหลือและการส่งนักเรียนไปยังผู้เชี่ยวชาญภายนอก
4.3 ผลผลิตด้านคุณค่าหรือประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินงานโครงการ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และรายด้านอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้านโดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านผู้เรียน รองลงมาตามลำดับ คือ ด้านครู ด้านผู้บริหารโรงเรียน ด้านโรงเรียน ด้านผู้ปกครองและชุมชน และรายข้ออยู่ในระดับมากที่สุดทุกข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่สังคมต้องการ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ โรงเรียนได้รับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์จนเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป