การประเมินครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ได้แก่ 1)เพื่อประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับนโยบาย วัตถุประสงค์ ความจำเป็นและความต้องการ ความเป็นไปได้และความสมเหตุสมผล 2)เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการเกี่ยวกับบุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ สิ่งสนับสนุนและการบริหารจัดการ 3)เพื่อประเมินกระบวนการของโครงการเกี่ยวกับการวางแผน การดำเนินงาน การตรวจสอบและการปรับปรุง 4)เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับผลการส่งเสริมการจัดการศึกษาแนวพุทธ 5)เพื่อประเมินผลกระทบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 6)เพื่อประเมินประสิทธิผล ผลสำเร็จของโครงการตามวัตถุประสงค์ 7)เพื่อประเมินด้านความยั่งยืน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง 8)เพื่อประเมินการถ่ายทอด องค์ความรู้ การขยายโครงการต่อครูในโรงเรียน ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหาร หัวหน้างานวิชาการ และครูผู้เข้าร่วมโครงการ ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2 ทุกโรงเรียน จำนวน 52 โรงเรียน จำนวน 156 คน ซึ่งได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ดังนี้ 1)ผู้บริหาร จำนวน 52 คน 2)หัวหน้างานวิชาการ จำนวน 52 คน 3)ครูผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 52 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ แบบสอบถามความคิดเห็น และแบบสัมภาษณ์ มีการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าความเชื่อมั่น และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษา พบว่า
1. ผลการประเมินด้านบริบท (Context) พบว่า มีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า นโยบาย วัตถุประสงค์ ความจำเป็นและความต้องการ ความเป็นไปได้และความสมเหตุสมผล มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input) พบว่า มีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า ความพอเพียงของทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินโครงการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process) พบว่า มีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า การวางแผน การดำเนินการ การตรวจสอบ การปรับปรุง และการสรุป มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product) พบว่า ผลการประเมินความเข้าใจ ความพึงพอใจ การนำนวัตกรรมต้นแบบไปใช้ การจัดการศึกษาแนวพุทธให้กับผู้เรียน และผู้เรียนได้รับความรู้อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด
5. ผลการประเมินด้านผลกระทบ (Impact Evaluation) พบว่า ผลการนำแนวคิดของนวัตกรรมต้นแบบไปใช้ ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมของครู การปฏิบัติตนตามหลักไตรสิกขา ผู้เรียนมีคุณธรรมจริยธรรมตามหลักสูตรของสถานศึกษา และเรียนรู้อย่างมีความสุข อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด
6. ผลการประเมินด้านประสิทธิผล (Effectiveness Evaluation) พบว่า ความเข้าใจ การเห็นคุณค่า ความสามารถในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนและ การมีความสุขต่อการจัดการศึกษาแนวพุทธ ด้วยการเรียนรู้แบบ Active Learning อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด
7. ผลการประเมินด้านความยั่งยืน (Sustainability Evaluation) พบว่า ความสามารถในการพัฒนาต่อยอด การนำความรู้ที่ได้ไปส่งเสริมการจัดการศึกษา ความต่อเนื่อง และความต้องการ อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด
8. ผลการประเมินด้านการถ่ายโยงความรู้ (Transportability Evaluation) พบว่า ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ การจัดการศึกษาให้เป็นต้นแบบสำหรับผู้อื่นได้ การถ่ายการจัดการศึกษาแนวพุทธ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครู และความภาคภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด