บทคัดย่อ
การประเมินโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ระดับปฐมวัย โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิป (CIPPIEST Model) ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอ่างทอง ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านบริบท 2) ด้านปัจจัยเบื้องต้น 3) ด้านกระบวนการ และ 4) ด้านผลผลิตของโครงการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการ จำนวน 285 คน ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ประกอบด้วยผู้ประสานงานโครงการ จำนวน 3 คน ผู้บริหารโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 141 คน และครูผู้สอนระดับปฐมวัยที่เข้าร่วมโครงการ ปีการศึกษา 2563 จำนวน 141 คน เครื่องมือที่ใช้ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แบบสอบถามการประเมินโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ระดับปฐมวัย สำหรับผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนระดับปฐมวัย เป็นแบบสอบถามแบบประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ และ 2) แบบสัมภาษณ์ผู้ประสานงานโครงการ เรื่องการประเมินโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ระดับปฐมวัย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ(Percentage) ค่าเฉลี่ย ( x̄ ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการประเมินด้านบริบทโดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄ =4.69, S.D.=0.54) โครงการมีวัตถุประสงค์ เป้าหมายที่ชัดเจน เหมาะสม
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนําเข้าโดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
(x̄ =3.97, S.D.=0.79) ผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น(LN) และ วิทยากรเครือข่ายท้องถิ่น(LT) มีความรู้ความสามารถในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมของโครงการ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ( x̄ =4.05, S.D.=0.83) การกำกับ ติดตามและประเมินผลครอบคลุมวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตโดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก( x̄ =4.07, S.D.=0.79) ผู้เรียนมีความสนใจและกระตือรือร้นในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านการทดลองอย่างง่าย
4.1 ผลการประเมิน ด้านผลกระทบโดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
( x̄ =3.84, S.D.=0.87) ตราสัญลักษณ์พระราชทานที่ได้รับเป็นหลักประกันคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียน
4.2 ผลการประเมินด้านประสิทธิผลโดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
(x̄ =3.87, S.D.=0.85) โรงเรียนจัดกิจกรรมโครงการได้อย่างมีคุณภาพ
4.3 ผลการประเมินด้านความยั่งยืนโดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ =4.04, S.D.=0.88) โรงเรียนมีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการดำเนินงานของโครงการเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องต่อไป และโครงการควรมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป
4.4 ผลการประเมินด้านการถ่ายทอดส่งต่อ โดยภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก (x̄ =3.79, S.D.=0.86) โรงเรียนประชาสัมพันธ์โครงการให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบด้วยวิธีการที่หลากหลาย และโรงเรียนสามารถขยายผลเป็นแบบอย่างของโครงการให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ได้