การขับเคลื่อนและพัฒนากระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสกลนคร*
Driving and Developing Professional Learning Communities in Schools under the Secondary Educational Service Area Office Sakon Nakhon*
ไพบูรณ์ เกตวงษา 1
ชลธิชา กระแสศิล 2
ปราโมทย์ ภูมิพันธ์ 3
มนตรี แย้มกสิกร 4
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินงานของครูและพัฒนากระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสกลนคร โดยใช้รูปแบบการวิจัยแบบผสมผสาน เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพจากการลงพื้นที่นิเทศติดตามการจัดกิจกรรม PLC ในช่วงปี พ.ศ. 2561-2563 นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เนื้อหาและนำเสนอในรูปแบบร้อยละ ส่วนข้อมูลเชิงปริมาณเก็บโดยใช้แบบวัดความพึงพอใจและแบบทดสอบความรู้หลังจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในวันที่ 19 กันยายน 2563 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จากครูกลุ่มตัวอย่าง 292 คน ในโรงเรียน 27 แห่ง และผลจากการดำเนินงาน PLC ของครูในระบบ TRAINFLIX KSPPLC63 นำข้อมูลมาวิเคราะห์และนำเสนอในรูปแบบค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า สถานศึกษาทุกแห่งมีการดำเนินงานชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูด้วยการกำหนดชั่วโมง PLC ลงในตารางสอนของครูทุกคน ครูส่วนใหญ่มีการจัดตั้งกลุ่มหรือทีมและมีการกำหนดแผนการปฏิบัติงานและดำเนินการตามแผน แต่ในขั้นตอนการเปิดชั้นเรียนและการสะท้อนผลหลังสอนมีการดำเนินการน้อยเพียงร้อยละ 13 และพบว่าร้อยละ 72 ยังไม่เคยดำเนินการ ข้อมูลเชิงคุณภาพบอกเป็นนัยว่าครูส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ PLC หลังการอบรมเชิงปฏิบัติการพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความรู้เรื่อง PLC ร้อยละ 87 และมีความพึงพอใจการอบรมระดับมาก ผลการส่งงาน PLC ในระบบของครูที่สำเร็จมีเพียงร้อยละ 14 การวิจัยนี้ค้นพบว่าความใส่ใจของผู้บริหารโรงเรียนเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานและพัฒนากระบวนการ PLC ของครูในสถานศึกษา
คำสำคัญ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครู, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสกลนคร, PLC คุรุสภา, TRAINFLIX KSPPLC63
1 ศึกษานิเทศก์, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสกลนคร / อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 47000
2 นักวิชาการคอมพิวเตอร์, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสกลนคร / อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 47000
3 ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสกลนคร / อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 47000
4 ผู้อำนวยการโรงเรียนนานาชาติภาคตะวันออก / อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 20230
* บทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 2 และนานาชาติ ครั้งที่ 1 นวัตวิถีการเรียนรู้กับการศึกษาแนวใหม่สู่การสร้างทักษะแห่งอนาคตสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน นักศึกษาครูและผู้เรียน. มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ประจำปี 2564 หน้า 859-880.