เรื่อง : รูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน
โรงเรียนบ้านขุนแม่ตื่นน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5
ชื่อผู้วิจัย : นางอำไพ มณีวรรณ
ชื่อหน่วยงาน : โรงเรียนบ้านขุนแม่ตื่นน้อย
ปีที่พิมพ์ : 2563 จำนวนหน้า 417 หน้า
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานและความคาดหวังของการบริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนโรงเรียนบ้านขุนแม่ตื่นน้อย 2) ออกแบบและพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนโรงเรียนบ้านขุนแม่ตื่นน้อย 3) นำรูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนโรงเรียนบ้านขุนแม่ตื่นน้อย ไปใช้ และ 4) เพื่อประเมินรูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนโรงเรียนบ้านขุนแม่ตื่นน้อย วิธีดำเนินการวิจัยและพัฒนา 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน (Analysis: R1) ระยะที่ 2 การออกแบบและพัฒนารูปแบบ (Design and Development : D1) ระยะที่ 3 การนำรูปแบบไปใช้ (Implement : R2) และ ระยะที่ 4 การประเมินรูปแบบ (Evaluation : D2) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ระยะที่ 1 เป็นแบบกรอกข้อมูลจากเอกสาร แบบสนทนากลุ่ม ระยะที่ 2 เป็นแบบประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ความเป็นประโยชน์และความถูกต้องของรูปแบบ ระยะที่ 3 เป็นแบบวัดความรู้ ทักษะและเจตคติของครู และแบบประเมินความพึงพอใจ ระยะที่ 4 แบบประเมินรับรองรูปแบบ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มครูผู้สอน 2) กลุ่มนักเรียน 3) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มผู้ปกครอง ได้มาทั้งการสุ่มแบบง่าย และการสุ่มแบบเจาะจง การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย(Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการทดสอบค่า t
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานและความคาดหวังของการบริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนโรงเรียนบ้านขุนแม่ตื่นน้อย พบว่า นโยบายและเป้าหมายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา มีการกำหนดเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน มีความคาดหวังและต้องการให้บริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนโรงเรียนบ้านขุนแม่ตื่นน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5
2. ผลการออกแบบและพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนโรงเรียนบ้านขุนแม่ตื่นน้อย พบว่า รูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนโรงเรียนบ้านขุนแม่ตื่นน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 มี 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) ระบบงานและกลไก 4) แนวการประเมิน และ 5) เงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ เพื่อบริหารวิชาการ 5 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาหลักสูตร 2) การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ 3) การวัดผล ประเมินผลและเทียบโอนผลการเรียน 4) การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ และ 5) การนิเทศการศึกษา และใช้กระบวนการการพัฒนาครู 4 วิธีการ ได้แก่ 1) การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Learning) 2) การฝึกอบรม (Training) 3) การสอนงานและการเป็นพี่เลี้ยง (Coaching & Mentoring) และ 4) การนิเทศ ติดตาม(supervision, follow-up) และผลการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน พบว่า มีความสอดคล้อง ความหมาะสม ความเป็นไปได้ ในภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก
3. ผลการนำรูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนโรงเรียนบ้านขุนแม่ตื่นน้อย ไปใช้ โดยใช้รูปแบบการวิจัย Pre-Experimental Design โดยประยุกต์ใช้แบบแผนการทดลองแบบกลุ่มตัวอย่างเดียวมีการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน (The one-group Pretest-Posttest Design) ตามขั้นตอนและปฏิทินที่กำหนด พบว่า ครูผู้สอนมีความรู้ หลังการพัฒนาสูงกว่าก่อนการพัฒนา ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด (ร้อยละ 80) และ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผู้ปกครองมีความพึงพอใจระดับมาก นักเรียนชอบกิจกรรมที่จัดขึ้น และต้องการให้จัดอย่างต่อเนื่อง
4. ผลการประเมินรูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนโรงเรียนบ้านขุนแม่ตื่นน้อย พบว่า ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินรับรองแนวทางในระดับมาก