ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียน ทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ ปีการศึกษา 2564 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา สุโขทัย
ผู้ศึกษา นายอมรศักดิ์ เสมสันต์
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ ปีการศึกษา 2564 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุโขทัย โดยใช้รูปแบบการประเมินโครงการแบบ CIPPIEST Model การประเมินโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อประเมินบริบทของโครงการ (Context Evaluation) 2) เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ (Input Evaluation) 3) เพื่อประเมินกระบวนการดำเนินงานของโครงการ (Process Evaluation) ที่เกี่ยวกับการวางแผน (Plan) การปฏิบัติตามแผน (Do) การตรวจสอบ ประเมินผล (Check) การพัฒนาปรับปรุง (Action) 4) เพื่อประเมินกิจกรรมระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล 2.การคัดกรองนักเรียน 3.การส่งเสริมและพัฒนานักเรียน 4.การป้องกันและแก้ไขปัญหา 5.การส่งต่อนักเรียน 5) เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation) ด้านผลกระทบ (Impact Evaluation) ด้านประสิทธิผล (Effective Evaluation) ด้านความยั่งยืน (Sustainability Evaluation) ด้านการถ่ายโยงความรู้ (Transportability Evaluation) 6) เพื่อประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ และ 7) เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วยครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ จำแนกเป็น 1) ครูโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ ปีการศึกษา 2564 จำนวน 91 คน เป็นกลุ่มประชากรเป้าหมายทั้งหมด 2) นักเรียนโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ ใช้วิธีสุ่มอย่างง่ายตามตารางของเครซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan อ้างถึงในวัลลภ ลำพาย, 2547 : 83) ได้กลุ่มตัวอย่าง นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 310 คน 3) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ปีการศึกษา 2564 จำนวน 13 คน เป็นกลุ่มประชากรเป้าหมายทั้งหมด และ 4) ผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ ใช้วิธีสุ่มอย่างง่ายตามตารางของเครซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan อ้างถึงในวัลลภ ลำพาย, 2547 : 83) ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 310 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย แบบสอบถามเพื่อประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการดำเนินงานและแบบประเมินด้านผลผลิต ด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผล ด้านความยั่งยืน ด้านการถ่ายโยงความรู้
ผลการประเมินด้านบริบท (Context Evaluation)ของโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ ปีการศึกษา 2564 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุโขทัย พบว่า ภาพรวมมีความสอดคล้องและความเหมาะสมระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.72 ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.19 เมื่อพิจารณาแต่ละรายการพบว่า โครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพของการจัดการศึกษา มีค่าเฉลี่ยระดับมากที่สุด รองลงมาคือ ความสอดคล้องของโครงการกับสภาพความต้องการของครู ผู้ปกครองนักเรียน ชุมชน ในสถานการณ์ของสังคมปัจจุบัน
ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ของโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ ปีการศึกษา 2564 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุโขทัย พบว่า ภาพรวมมีความเหมาะสมระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.53 ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.40 เมื่อพิจารณาแต่ละปัจจัย พบว่า ผู้บริหาร ครู และบุคลากร มีความตระหนักและเห็นความสำคัญในการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีค่าเฉลี่ยระดับมากที่สุด รองลงมาคือ ความพร้อมของปัจจัยเพื่อการดำเนินโครงการ อยู่ในระดับมาก
ผลการประเมินด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process Evaluation) ของโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ ปีการศึกษา 2564 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุโขทัย พบว่าภาพรวมมีการปฏิบัติในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.48 ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.17 เมื่อพิจารณาแต่ละกระบวนการพบว่า ขั้นการวางแผนการดำเนินงานโครงการ (Plan) ภาพรวมมีการปฏิบัติในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.48 โดยรายการที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ สถานศึกษาได้จัดโครงสร้างและคณะกรรมการทีมนำ ทีมประสาน ทีมทำ ในการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ขั้นการปฏิบัติตามแผน (Do) ของการดำเนินงานโครงการ ภาพรวมมีการปฏิบัติในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.46 โดยรายการที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ การทำความรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลด้วยการศึกษาข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคล การเยี่ยมบ้าน การสังเกต การสอบถาม การสัมภาษณ์ และการส่งเสริมและพัฒนานักเรียนโดยการจัดกิจกรรมพัฒนานักเรียนที่หลากหลาย ขั้นการตรวจสอบ ประเมินผล (Check) ของการดำเนินงานโครงการ ภาพรวมการตรวจสอบผลการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.53 ผลการตรวจสอบผลการปฏิบัติรายการที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ มีการวิเคราะห์และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอย่างเหมาะสม และขั้นการพัฒนาปรับปรุง (Action)
โดยภาพรวมมีการปฏิบัติในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.48 ผลการพัฒนาปรับปรุงรายการที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ คณะกรรมการดำเนินงานมีการประเมินผลหลังเสร็จสิ้นการดำเนินงานและสรุปผลจัดทำรายงานการประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการเพื่อนำผลการประเมินไปใช้ในการวางแผนพัฒนาในปีถัดไป
ผลการประเมินผลกิจกรรมตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ ปีการศึกษา 2564 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุโขทัย ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล 2) การคัดกรองนักเรียน 3) การส่งเสริมและพัฒนานักเรียน 4) การป้องกันและแก้ไขปัญหา 5) การส่งต่อนักเรียน โดยภาพรวมการประเมินผลกิจกรรมตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.59 เมื่อพิจารณาการประเมินรายกิจกรรมพบว่า ครูที่ปรึกษาแต่ละระดับชั้นแก้ไขปัญหานักเรียนและส่งต่อ อยู่ในระดับมากที่สุด และรองลงมา คือ กิจกรรมเยี่ยมบ้านนักเรียน 100 % และ การจัดกิจกรรมแก้ไขพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของนักเรียน
ผลการประเมินผลผลิต (Product) ของโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ ปีการศึกษา 2564 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุโขทัย โดยประเมินทั้งหมด 5 ด้าน คือ 1) ด้านผลกระทบ(Impact Evaluation) 2) ด้านประสิทธิผล (Effective Evaluation) 3) ด้านความยั่งยืน (Sustainability Evaluation) 4) ด้านการถ่ายโยงความรู้(Transportability Evaluation) พบว่า โดยภาพรวมผลการประเมินผลผลิตอยู่ในระดับ มากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.60 ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.17 โดยเมื่อพิจารณาผลรายด้าน พบว่า ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนทำให้นักเรียนอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีผลอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ ครูที่ปรึกษาให้คำแนะนำเบื้องต้นและให้การช่วยเหลือนักเรียนในด้านต่างๆ ได้ และเมื่อประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ พบว่า โดยภาพรวมผลการประเมินความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.45 ส่วนการประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียน ทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ พบว่า โดยภาพรวมผลการประเมินความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.40