การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินโครงการพัฒนาทักษะการคิดของโรงเรียน บ้านค่าย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์(CIPP Model) ตามแนวคิดของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam. 1983) ประเมิน 4 ด้าน คือ ด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัย(Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ รองผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ และแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการประเมิน พบว่า
1. การประเมินด้านบริบท (Context) ผลการวิเคราะห์ข้อมูลความสอดคล้องของโครงการกับบริบทในภาพรวม มีความสอดคล้องอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่มีความสอดคล้องมากที่สุดคือ ด้านนโยบาย ส่วนด้านที่มีความสอดคล้องน้อยที่สุดคือ ความต้องการของผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. การประเมินด้านปัจจัย (Input) ผลการวิเคราะห์ข้อมูลความเหมาะสม ในภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่มีความเหมาะสมมากที่สุดคือ ด้านบุคลากร ส่วนด้านที่มีความเหมาะสมน้อยคือ ด้านวัสดุอุปกรณ์และสถานที่ และโครงการพัฒนาทักษะการคิด สอดคล้องกับสภาพปัญหา ความต้องการจำเป็นของโรงเรียนบ้านค่าย
3. การประเมินด้านกระบวนการ (Process) ผลการวิเคราะห์ข้อมูลระดับการปฏิบัติในภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่มีการปฏิบัติมากที่สุดคือ กิจกรรมยุวชนคอมพิวเตอร์ ส่วนด้านที่มีการปฏิบัติน้อยที่สุดคือ กิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน
4. การประเมินด้านผลผลิต (Product) ผลผลิตตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ในภาพรวม พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ข้อที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดคือ วัตถุประสงค์ข้อที่ 1 เพื่อให้นักเรียนมีทักษะการคิดสร้างสรรค์ ส่วนผลสำเร็จน้อยที่สุดคือ วัตถุประสงค์ข้อที่ 4 เพื่อให้นักเรียนมีทักษะการคิดเชิงนวัตกรรม และผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมโครงการฯ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า กิจกรรมที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดคือ กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ธรรมชาติศึกษา และกิจกรรมที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนต่ำสุดคือ กิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน