ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการพัฒนาการจัดการเรียนรู้บูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียนโรงเรียนสุนทรวัฒนา
ผู้วิจัย นางอรรธยา ทวีวัฒนพงษ์
โรงเรียน โรงเรียนสุนทรวัฒนา
ปีที่พิมพ์ 2564
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนาการจัดการเรียนรู้บูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียนโรงเรียนสุนทรวัฒนา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถม ศึกษาชัยภูมิ เขต 1 โดยใช้การประเมินตามรูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ซึ่งเป็นแนวคิดของสติฟเฟลบีม (Stufflebeam) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินด้านบริบทของโครงการ 2) ประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ 3) ประเมินด้านกระบวนการของโครงการ 4) ประเมินด้านผลผลิตของโครงการ โดยแบ่งการประเมินเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 4.1) ด้านหลักสูตรและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู 4.2) การพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 4.3) การพัฒนาทักษะชีวิต และ 4.4) ความพึงพอใจของครูและนักเรียนที่มีต่อการดำเนินโครงการ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้บริหาร จำนวน 4 คน ครู จำนวน 33 คน นักเรียน จำนวน 461 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามประเภทมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมิน
ผลการประเมินโครงการพัฒนาการจัดการเรียนรู้บูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียนโรงเรียนสุนทรวัฒนา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถม ศึกษาชัยภูมิ เขต 1 โดยรวมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน เรียงตามค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ ด้านกระบวนการ ด้านปัจจัยเบื้องต้น และด้านบริบท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ด้านบริบท ผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อตามค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ ได้รับการสนับสนุนการปฏิบัติงานตามโครงการจากผู้บริหารโรงเรียนเป็นอย่างดี รองลงมาคือ สภาวะแวดล้อมของโรงเรียนมีความเหมาะสมและเอื้อต่อการดำเนินโครงการ และวัตถุประสงค์ของโครงการมีความชัดเจนสอดคล้องกับวิธีการดำเนินงาน ตามลำดับ
2. ด้านปัจจัยเบื้องต้น ผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อตามค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ ปัญหาที่เกิดจากการดำเนินงานได้รับการแก้ไขจากผู้บริหารและที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี รองลงมาคือ เน้นให้ผู้รับผิดชอบและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจวางแผนและการดำเนินงานตามโครงการ และระบบการบริหารภายในโรงเรียนเอื้ออำนวยต่อการดำเนินโครงการ ตามลำดับ
3. ด้านกระบวนการ ผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อตามค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ การดำเนินกิจกรรมโครงการตามแผนและขั้นตอนการดำเนินการที่กำหนดไว้ในโครงการ รองลงมาคือ มีการพัฒนาครูและบุคลากรในโครงการอย่างต่อเนื่องและประชุมคณะกรรมการดำเนินงานเป็นระยะ ตามลำดับ
4. ด้านผลผลิต ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านเรียงตามค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ ด้านการพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รองลงมาคือ ด้านการพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียน และด้านหลักสูตรและ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สรุปรายละเอียด ดังนี้
4.1 ด้านหลักสูตรและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยรวมอยู่ในระดับมาก พิจารณารายข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ มีแผนการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ มีการศึกษา/วิเคราะห์/วิจัย เพื่อพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้หน่วยการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และจัดแสดง/เผยแพร่/ประกวด/แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลงานของผู้เรียนที่เกิดจากการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ตามลำดับ
4.2 ด้านการพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยรวมอยู่ในระดับมาก พิจารณารายข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ สนองการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งสามห่วง สองเงื่อนไขมาใช้บูรณาการในกระบวนการเรียนรู้ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ จุดประสงค์การเรียนรู้สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
4.3 ด้านการพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียน โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยสุดคือ ด้านการวิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
4.4 ด้านความพึงพอใจของครูและนักเรียนที่มีต่อผลการดำเนินโครงการ โดยรวมอยู่ในระดับมาก พิจารณารายข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ โครงการเน้นให้ครูนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การจัดการเรียนรู้ได้อย่างชัดเจน