ชื่อผู้นำเสนอ จิรวัฒน์ เสาร์นิยม
กลุ่มสาระการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (ทัศนศิลป์)
1. ความเป็นมา/แนวคิด
การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุดในกระบวนการจัดการศึกษา และส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาตามธรรมชาติ และเต็มตามศักยภาพ การจัดการศึกษาทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษา
นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา การจัดกระบวนการเรียนรู้
ให้สถานศึกษาดำเนินการ คือ จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจ
และความถนัดของผู้เรียนโดยคำนึงถึง ความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกทักษะกระบวนการคิด
การจัดการกับสถานการณ์ และประยุกต์ความรู้มาใช้ป้องกันและแก้ไขปัญหา จัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกปฏิบัติให้ทำได้คิดเป็น ทำเป็น จัดการเรียนการสอน
โดยผสมผสานสาระความรู้ต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศสภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ จัดการเรียนรู้ให้เกิดได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือระหว่าง บิดา มารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ ให้สถานศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา (พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ, พ.ศ. 2542 :
24-25)
กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ เป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจิตนาการทางศิลปะ ชื่นชมความงาม สุนทรียภาพ ความมีคุณค่า ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์ ดังนั้น กิจกรรมศิลปะสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียนโดยตรงทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และสังคมตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาสิ่งแวดล้อมส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นในตนเองและแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ พัฒนากระบวนการรับรู้ทางศิลปะการเห็นภาพรวม การสังเกตรายละเอียด สามารถค้นพบศักยภาพของตนเอง อันเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพได้ ด้วยการมีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัย สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข การเรียนรู้ศิลปะมุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจ การคิดที่เป็นเหตุเป็นผลถึงวิธีการทางศิลปะ ความเป็นมาของรูปแบบภูมิปัญญาท้องถิ่นและรากฐานทางวัฒนธรรม ค้นหาว่าผลงานศิลปะสื่อความหมายกับตนเอง ค้นหาศักยภาพ ความสนใจส่วนตัว ฝึกการรับรู้ การสังเกตที่ละเอียดอ่อนอันนำไปสู่ความรัก เห็นคุณค่าและเกิดความซาบซึ้งในคุณค่าของศิลปะ และสิ่งรอบตัว พัฒนาเจตคติ สมาธิ รสนิยมส่วนตัว มีทักษะกระบวนการวิธีการแสดงออกการคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้ผู้เรียนตระหนักถึงบทบาทของศิลปกรรมในสังคม ในบริบทของ การสะท้อนวัฒนธรรมทั้งของตนเองและวัฒนธรรมอื่น
กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจ มีทักษะวิธีการทางศิลปะ เกิดความซาบซึ้งในคุณค่าของศิลปะ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงออกอย่างอิสระในศิลปะแขนงต่าง ๆ ประกอบด้วยสาระสำคัญ คือ ทัศนศิลป์ มีความรู้ความเข้าใจองค์ประกอบศิลป์
ทัศนธาตุ สร้างและนำเสนอผลงานทางทัศนศิลป์จากจินตนาการ โดยสามารถใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม รวมทั้งสามารถใช้เทคนิควิธีการของศิลปินในการสร้างงานได้อย่างมีประสิทธิภาพวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์คุณค่างานทัศนศิลป์เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างทัศนศิลป์ประวัติศาสตร์
และวัฒนธรรม เห็นคุณค่างานศิลปะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและสากล ชื่นชม ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน (หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2551: 1 บทนำ)
ดังนั้น การจัดกิจกรรมด้านทัศนศิลป์ ผู้สอนจำเป็นต้องออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับการเสริมสร้าง ศักยภาพของแต่ละบุคคล เพื่อให้ผู้เรียนได้เติบโตเต็มศักยภาพและเพื่อเป็น การรองรับการพัฒนาและส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะ เก่ง ดี มีสุข เป็นเป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษาในปัจจุบันที่เน้นผู้เรียน (สมชาย แก้วประกอบ, 2553:2)
จากที่กล่าวมา ผู้วิจัยจึงมีความสนใจศึกษาและพัฒนาสร้างเอกสารประกอบการเรียน เรื่อง การสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ ที่พัฒนาทักษะและความคิดสร้างสรรค์ทางวิชาศิลปะครูผู้สอนจำเป็นต้องใช้เทคนิคในการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องและมีความเหมาะสมกับธรรมชาติของวิชา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งนักเรียนสามารถฝึกฝนเรื่องการรับรู้ทางศิลปะได้อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้จริง เพื่อครูผู้สอนสามารถนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอน และเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างสื่อการเรียนรู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ การรับรู้ทางด้านศิลปะที่ส่งผลทำให้เกิดการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพต่อการพัฒนากระบวนการสร้างสรรค์ผลงานทางทัศนศิลป์ต่าง ๆ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต่อไป