ชื่อเรื่อง รูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโรงเรียน
วัดบ้านสระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3
ผู้วิจัย นางพิศสมัย วงษา
ปีที่ทำวิจัย 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษารูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานของโรงเรียนวัดบ้านสระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 (2) สร้างรูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนวัดบ้านสระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 (3) ศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนวัดบ้านสระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 และ (4) ประเมินรูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนวัดบ้านสระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3
วิธีการวิจัยมี 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1) ศึกษารูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานของโรงเรียนวัดบ้านสระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 โดยการวิเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน โดยใช้แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง (Semi - Structured Interview) และการถอดบทเรียนจากโรงเรียนที่มีการนิเทศเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เป็นต้นแบบได้ จำนวน 2 โรงเรียน โดยดูจากการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนการสอนของครูภาษาไทย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ (Exploratory Factor Analysis : EFA) 2) สร้างรูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนวัดบ้านสระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 โดยการจัดประชุมสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) จากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจำนวน 9 คน โดยใช้แบบตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบและคู่มือแบบตรวจสอบรายการ โดยการวิเคราะห์เนื้อหา วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ได้แก่ ค่าความถี่ และค่าร้อยละ 3) ศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนวัดบ้านสระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 โดยศึกษาจากประชากรทั้งหมด คือ ครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 ของโรงเรียนโรงเรียนวัดบ้านสระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 จำนวน 15 คน และนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 164 คน ในปีการศึกษา 2564 เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบบันทึกคะแนน สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าร้อยละ และค่าเฉลี่ยเลขคณิต 4) ประเมินรูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนวัดบ้านสระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 โดยศึกษาจากกลุ่มประชากรทั้งหมด คือ ครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 ของโรงเรียนวัดบ้านสระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 รวมจำนวน 15 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 9 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 164 คน รวมจำนวน 188 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบประเมินรูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนวัดบ้านสระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 ลักษณะของข้อคำถามเป็นแบบมาตรส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) มีค่าความเชื่อมั่น .983 สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบของรูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโรงเรียนวัดบ้านสระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 ได้จำนวน 72 ตัวแปร และสามารถกำหนดเป็น 5 องค์ประกอบและตั้งชื่อองค์ประกอบได้ ดังนี้ 1) F1 - Focus on faith (การสร้างศรัทธา) จำนวน 20 ตัวแปร 2) F2 - Form plan (วางแผนพัฒนา) จำนวน 18 ตัวแปร 3) F3 - Familiar Practice (นำพาปฏิบัติ) จำนวน 14 ตัวแปร 4) F4 - Follow up (กำกับ ติดตามและประเมินผล) จำนวน 12 ตัวแปร และ 5) F5 - Feedback and Feedforward (พาชื่นชมยินดี สะท้อนคิด) จำนวน 8 ตัวแปร
2. รูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโรงเรียน วัดบ้านสระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ คือ 1) F1 - Focus on faith (การสร้างศรัทธา) 2) F2 - Form plan (วางแผนพัฒนา) 3) F3 - Familiar Practice (นำพาปฏิบัติ) 4) F4 - Follow up (กำกับ ติดตามและประเมินผล) และ 5) F5 - Feedback and Feedforward (พาชื่นชมยินดี สะท้อนคิด) และผลการตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบ พบว่า ผู้เชี่ยวชาญทุกท่านมีความคิดเห็นพ้องต้องกันว่ารูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโรงเรียนวัดบ้านสระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 มีความเหมาะสม
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโรงเรียนวัดบ้านสระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 นักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 มีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยเพิ่มขึ้นทุกระดับชั้น นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 3 มีความสามารถในการอ่าน การเขียน การฟัง การดู การพูด หลักการใช้ภาษาไทย และวรรณคดีและวรรณกรรมเพิ่มขึ้นจากระดับคุณภาพดีเป็นดีมาก นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 มีความสามารถในการอ่าน การเขียน การฟัง การดู การพูด หลักการใช้ภาษาไทย และวรรณคดีและวรรณกรรมเพิ่มขึ้นจากระดับคุณภาพดีเป็นดีมาก และนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีคะแนนเฉลี่ยกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาภาษาไทยของผลการทดสอบพื้นฐานระดับชาติ (Ordinary National Educational Test : O - NET) เพิ่มขึ้น
4. ผลการประเมินรูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนวัดบ้านสระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ทุกด้านอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับจากค่าเฉลี่ยเลขคณิตมากไปน้อย ดังนี้ ด้านความถูกต้อง ด้านความเป็นไปได้ ด้านความเป็นประโยชน์ และด้านความเหมาะสม ตามลำดับ