ชื่อเรื่อง รายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ 4 ลักษณะ โรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา ปีการศึกษา 2564
ชื่อผู้วิจัย นางสาวปัทมา ชุมประทีป
รองผู้อำนวยการโรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา
ปีที่ประเมิน ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ 4 ลักษณะ โรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา ปีการศึกษา 2564 โดยใช้รูปแบบการประเมินของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeams CIPP Model) เป็นกรอบแนวคิดในการประเมินโดยประเมิน 4 ด้าน มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการของโครงการและด้านผลผลิตของโครงการประกอบด้วย 1) ระดับคุณภาพการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ 4 ลักษณะ 2) ความพึงพอใจ ผู้ปกครองที่มีต่อประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา 3) คุณภาพผู้เรียน จำแนกเป็น 3.1 คุณภาพผู้เรียนตามแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) 3.2) คุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา ปีการศึกษา 2564 โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างครูผู้สอน จำนวน 50 คน กลุ่มตัวอย่างคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน กลุ่มตัวอย่างผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 128 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินมีจำนวน 7 ฉบับ มี 2 ลักษณะซึ่งลักษณะที่ 1 มีลักษณะมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 แบบสอบถามด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อม ฉบับที่ 2 แบบสอบถามด้านปัจจัยนำเข้า ฉบับที่ 3 แบบสอบถามด้านกระบวนการ ฉบับที่ 4 แบบสอบถามด้านผลผลิตเกี่ยวกับระดับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ 4 ลักษณะ ฉบับที่ 5 แบบสอบถามด้านผลผลิตเกี่ยวกับความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองต่อประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของครู ฉบับที่ 6 แบบบันทึกคุณภาพผู้เรียนเกี่ยวกับคุณภาพผู้เรียนตามแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) บันทึกผลการประเมินตามสภาพจริง และฉบับที่ 7 แบบบันทึกผลการประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา บันทึกผลการประเมินตามสภาพจริง เครื่องมือทุกฉบับมีการตรวจสอบคุณภาพได้ค่าความเชื่อมั่นระหว่าง .83 - .95 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการประเมิน โดยสรุปมีดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อมของโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ 4 ลักษณะ โรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำแนกตามประเด็นตัวชี้วัด และเกณฑ์การประเมิน พบว่า โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ย (x̄ = 4.56, S.D. = 0.60) อยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน ทั้งภาพรวม และทุกประเด็นตัวชี้วัด
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ 4 ลักษณะ โรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของครู จำแนกตามประเด็นตัวชี้วัด และเกณฑ์การประเมิน พบว่า โดยภาพรวมครูมีความคิดเห็น ( x̄ = 4.62, S.D. = 0.46) อยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน ทั้งภาพรวมและทุกประเด็นตัวชี้วัด
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ 4 ลักษณะ โรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของครู จำแนกตามตัวชี้วัด และเกณฑ์การประเมิน พบว่า โดยรวมครูมีความคิดเห็น ( x̄ = 4.88 , S.D.= 0.30) อยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน ทั้งภาพรวม และทุกประเด็นตัวชี้วัด
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต จำแนกเป็น
4.1 ผลการประเมินด้านผลผลิตเกี่ยวกับระดับคุณภาพการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ 4 ลักษณะ โรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของครู จำแนกตามตัวชี้วัด และเกณฑ์การประเมิน พบว่า โดยรวม ครูมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄ = 4.58 , S.D.= 0.35) ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งภาพรวม และทุกรายประเด็นตัวชี้วัด
4.2 ผลการประเมินระดับความพึงพอใจต่อประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของครู โรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครอง จำแนกตามกลุ่มผู้ประเมิน ประเด็นตัวชี้วัด และเกณฑ์การประเมิน พบว่า ทั้งสองกลุ่มที่ประเมินมีค่าเฉลี่ย ( x̄ = 4.67 , S.D. = 0.41) อยู่ในระดับมากที่สุด สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ผ่านเกณฑ์การประเมิน และเมื่อพิจารณาแต่ละกลุ่มผู้ประเมิน พบว่า คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีความพึงพอใจโดยรวมมีค่าเฉลี่ย ( x̄ = 4.70 ,S.D. = 0.39) อยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน ผู้ปกครอง มีความพึงพอใจโดยรวมมีค่าเฉลี่ย ( x̄ = 4.66 , S.D. = 0.44 ) อยู่ในระดับมากที่สุดเช่นกัน ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.3 คุณภาพผู้เรียน จำแนกเป็น
4.3.1 ผลการประเมินคุณภาพผู้เรียนตามแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) ระดับ 3 ขึ้นไป ของโรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา ปีการศึกษา 2564 โดยรวมมีค่าเฉลี่ยร้อยละ99.90 เมื่อพิจารณาจำแนกตามทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้ง 6 ทักษะ พบว่า ทักษะการเคลื่อนไหว ทักษะช่วยเหลือตนเอง และสุขอนามัย ทักษะทางสังคม และการดำรงชีวิต และทักษะอาชีพ มีค่าเฉลี่ย สูงสุด ร้อยละ 100 ส่วนทักษะภาษาและการสื่อสาร และทักษะวิชาการ มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 99.71 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.3.2 ผลการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษาตามมาตรฐานระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาตรฐานที่ 1 คุณภาพผู้เรียน โรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา ปีการศึกษา 2564 โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยร้อยละ 94.23 อยู่ในระดับยอดเยี่ยม และเมื่อพิจารณาจำแนกเป็นรายด้าน พบว่า ด้านผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการของผู้เรียน ประเด็นที่ 5 ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตามหลักสูตรสถานศึกษา มีค่าเฉลี่ยร้อยละสูงสุดร้อยละ 97.29 อยู่ในระดับยอดเยี่ยม รองลงมาได้แก่ ประเด็นมีความรู้ทักษะพื้นฐาน และเจตคติที่ดีต่องานอาชีพ เฉลี่ยร้อยละ 96.22 ส่วนประเด็นมีความสามารถด้านการคิด วิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แก้ปัญหาตามศักยภาพของแต่ละบุคคล มีค่าเฉลี่ยร้อยละต่ำสุด ร้อยละ 90.98 อยู่ในระดับยอดเยี่ยม เช่นกัน ผ่านเกณฑ์การประเมิน ส่วนด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ พบว่า ประเด็นนักเรียนมีสุขภาวะทางร่างกาย และจิตสังคมตามลักษณะความพิการ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ร้อยละ 98.25 อยู่ในระดับยอดเยี่ยม รองลงมาได้แก่ ประเด็น ผู้เรียนมีคุณลักษณะและค่านิยมที่ดีตามที่สถานศึกษากำหนด การยอมรับที่น่าจะอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง และหลากหลาย มีค่าเฉลี่ยร้อยละต่ำสุด ร้อยละ 94.07 อยู่ในระดับดีเยี่ยม เช่นกัน ผ่านเกณฑ์การประเมิน
ข้อเสนอแนะ
1. โรงเรียนควรประชาสัมพันธ์ หรือ เผยแพร่ผลสำเร็จที่เกิดกับโรงเรียน ครู และนักเรียน ให้กว้างยิ่งขึ้น
2. โรงเรียนควรกำหนดมาตรการที่เป็นแรงจูงใจ เชิงบวกกรณีที่ครูสามารถพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยตรวจสอบจากพัฒนาการครอบคลุม
1) คุณภาพผู้เรียนตามแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP)
2) คุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของสถานศึกษา
3) ผลการประเมินสมรรถนะสำคัญตามหลักสูตรสถานศึกษา และ 4) ผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักสูตรสถานศึกษา