แบบรายงานผลงานการปฏิบัติที่ดี ด้านการบริหารจัดการศึกษา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2 ปีงบประมาณ 2565
สรุปหัวข้อ/ประเด็นการนำเสนอวิธีปฏิบัติที่ดี ประกอบด้วย
1. ชื่อผลงาน : การพัฒนาบุคลากรด้วยกระบวนการนิเทศแบบ PIDRE
( √ ) ผลงานด้าน นิเทศภายใน
( ) ผลงานด้านระบบการประกันคุณภาพการศึกษา
( ) ผลงานด้านการบริหารวิชาการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่เน้น Active Learning
2. ชื่อผู้นำเสนอผลงาน : นายศรศักดิ์ บัวผัด
ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา
โรงเรียนบ้านร้องเชียงแรง
กลุ่มโรงเรียนภูซาง
3. ความสำคัญของผลงาน นวัตกรรม หรือแนวปฏิบัติที่นำเสนอ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๔๕ มาตรา ๒๒ การการจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ ซึ่งการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานและหลักการดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยครูที่มีความรู้ความสามารถอย่างหลากหลาย และเพียงพอ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๔๕ มาตรา ๕๒ กำหนดให้มีการส่งเสริมให้มีระบบกระบวนการผลิตครูและพัฒนาครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง อันจะส่งผลถึงการพัฒนาการศึกษาของชาติให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การพัฒนาการเรียนการสอนเป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง ครูและบุคลากรทางการศึกษาจึงเป็นปัจจัยการบริหารจัดการที่สำคัญยิ่งที่จะขับเคลื่อนการจัดการศึกษาสู่เป้าหมายของการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามหลักสูตรและนโยบายด้านการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งในห้วงเวลาที่ผ่านมาโรงเรียนบ้านร้องเชียงแรงมีการเปลี่ยนแปลงบุคลากรค่อนข้างมาก มีครูและบุคลากรใหม่จากการบรรจุแต่งตั้งและการย้ายประจำปีทดแทนครูที่เกษียณอายุราชการ ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นและถือเป็นภารกิจสำคัญของผู้บริหารสถานศึกษาในการพัฒนาครูและบุคลากรให้มีศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนและการปฏิบัติงานในหน้าที่
การนิเทศภายในโรงเรียน เป็นวิธีการสำคัญอย่างหนึ่งในการบริหารจัดการศึกษาที่มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพราะเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการที่เกี่ยวข้อง หากโรงเรียนมีระบบการนิเทศภายในที่เข้มแข็ง มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ต่อเนื่องสม่ำเสมอจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรย่อมส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษา จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารโรงเรียนและบุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียนจะต้องร่วมร่วมใจกันดำเนินงานทั้งบทบาทผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ
โรงเรียนบ้านร้องเชียงแรงตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรและกระบวนการนิเทศภายในจึงได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบและระบบการนิเทศภายในให้เป็นระบบ ชัดเจน เหมาะสมกับบริบทสถานศึกษาและความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน ครูและบุคลากรสามารถจัดการเรียนการสอนและปฏิบัติงานในหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับหลักการและแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดังนี้
ที่มา : คู่มือการนิเทศภายในโรงเรียน กลุ่มงานนิเทศ ติดตามและประเมินผลระบบบริหารและการจัดการศึกษา
กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 11
โรงเรียนบ้านร้องเชียงแรงดำเนินการนิเทศภายในตามกระบวนการนิเทศแบบ PIDRE ของ ดร.สงัด อุทรานันท์ ได้กล่าวสรุปไว้ว่ากระบวนการนิเทศการศึกษา มี 5 ขั้นตอน ในการดำเนินการ คือ
ขั้นที่ 1 วางแผนการนิเทศ (Planning - P)
ขั้นที่ 2 ให้ความรู้ ความเข้าใจในการทำงาน (Informing - I)
ขั้นที่ 3 ลงมือปฏิบัติงาน (Doing-D)
ขั้นที่ 4 สร้างเสริมกำลังใจ (Reinforcing-R)
ขั้นที่ 5 ประเมินการนิเทศ (Evaluating-E)
(อ้างใน วัชรา เล่าเรียนดี 2550 : 25-26)
ซึ่งโรงเรียนบ้านร้องเชียงแรงดำเนินการตามกระบวนการนิเทศภายใน โดยคำนึงถึงวิธีปฏิบัติที่ดีซึ่งเป็นวัฒนธรรมองค์กร R.C.R.S Model ดังนี้
R : Relationships = สัมพันธภาพ
C : Cooperate =สร้างความตระหนัก, ข้อตกลงร่วมกัน
R : Responsibility =ความรับผิดชอบ
S : Share =แบ่งปัน,แลกเปลี่ยนเรียนรู้
4. จุดประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน
4.1 จุดประสงค์
1) เพื่อพัฒนารูปแบบและกระบวนการนิเทศภายในโรงเรียน
2) เพื่อพัฒนาครูและบุคลากรให้มีศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนและการปฏิบัติงานในหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
3) เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น
4.2 เป้าหมาย
4.2.1 เป้าหมายเชิงปริมาณ
1) ครูและบุคลากรโรงเรียนบ้านร้องเชียงแรงทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ
2) ครูและบุคลากรโรงเรียนบ้านร้องเชียงแรงทุกคนได้รับนิเทศภายใน อย่างน้อยภาคเรียนละ 2 ครั้ง
4.2.2 เป้าหมายเชิงคุณภาพ
1) ครูและบุคลากรโรงเรียนบ้านร้องเชียงแรงทุกคนมีศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนและการปฏิบัติงานในหน้าที่ในระดับดีเลิศ
2) นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น
5. กระบวนการผลิตผลงาน หรือขั้นตอนการดำเนินงาน
ขั้นที่ 1 วางแผนการนิเทศ (Planning - P) เป็นขั้นที่ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศจะทำการประชุมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่งปัญหาและความต้องการจำเป็นที่จะต้องมีการนิเทศ รวมทั้งวางแผนถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการนิเทศที่จะจัดขึ้นด้วย
ขั้นที่ 2 ให้ความรู้ความเข้าใจในการทำงาน (Informing - I) เป็นขั้นตอนของการให้ความรู้ความเข้าใจถึงสิ่งที่จะดำเนินงานว่าจะต้องอาศัยความรู้ความสามารถอย่างไรบ้าง จะมีขั้นตอนในการดำเนินการอย่างไร และจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ได้ผลงานออกมาอย่างมีคุณภาพ ขั้นนี้จำเป็นทุกครั้งสำหรับการเริ่มการนิเทศที่จัดขึ้นใหม่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม และก็มีความจำเป็นสำหรับงานนิเทศที่ยังไม่ได้ผล หรือได้ผลไม่ถึงขั้นที่พอใจ ซึ่งจำเป็นจะต้องทำการทบทวนให้ความรู้ในการปฏิบัติงานที่ถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง
ขั้นที่ 3 การปฏิบัติงาน (Doing-D) ประกอบด้วยงานใน 3 ลักษณะ คือ
3.1 การปฏิบัติงานของผู้รับการนิเทศเป็นขั้นที่ผู้รับการนิเทศลงมือปฏิบัติงานตามความรู้ความสามารถที่ได้รับมาจากการดำเนินการในขั้นที่ 2
3.2 การปฏิบัติงานของผู้ให้การนิเทศ ขั้นนี้ผู้ให้การนิเทศจะทำการนิเทศและควบคุมคุณภาพให้งานสำเร็จออกมาทันตามกำหนดเวลาและมีคุณภาพสูง
ขั้นที่ 4 การสร้างเสริมกำลังใจ (Reinforcing-R) ขั้นนี้เป็นขั้นของการเสริมกำลังใจของผู้บริหารเพื่อให้ผู้รับการนิเทศมีความมั่นใจและบังเกิดความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน ขั้นนี้อาจจะดำเนินการไปพร้อม ๆ กันกับผู้ที่รับการนิเทศกำลังปฏิบัติงานหรือการปฏิบัติงานได้เสร็จสิ้นลงไปแล้วก็ได้
ขั้นที่ 5 ประเมินการนิเทศ (Evaluating-E) เป็นขั้นที่ผู้นิเทศทำการประเมินผลการดำเนินการซึ่งผ่านไปแล้วว่าเป็นอย่างไร หลังจากการประเมินผลการนิเทศ หากพบว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำให้การดำเนินงานไม่ได้ผลก็สมควรจะต้องทำการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขอาจจะทำได้โดยการให้ความรู้ในสิ่งที่ทำใหม่อีกครั้งหนึ่ง สำหรับกรณีที่ผลงานออกมายังไม่ถึงขั้นที่พอใจ หรือดำเนินการปรับปรุงการดำเนินงานทั้งหมดสำหรับกรณีการดำเนินงานไม่ได้ผล และถ้าหากการประเมินผลพบว่าประสบผลสำเร็จตามที่ได้ตั้งไว้หากจะดำเนินการนิเทศต่อไปก็สามารถทำไปได้เลยโดยไม่ต้องให้ความรู้เรื่องนั้นอีก
การดำเนินการนิเทศตามวัฏจักรนี้จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดนิ่งจนกว่าจะบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้ หรือพัฒนาผู้รับการนิเทศให้เป็นไปตามเป้าหมาย หากต้องการเริ่มนิเทศในสิ่งใหม่หรือตั้งเป้าหมายใหม่ ก็จะต้องดำเนินการตั้งแต่เริ่มแรกอีก
6. ผลการดำเนินการ ผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์ที่ได้รับ
1) โรงเรียนบ้านร้องเชียงแรงมีรูปแบบและกระบวนการนิเทศภายในโรงเรียนที่ชัดเจนมีการสื่อสารสร้างความเข้าใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ
2) ครูและบุคลากรได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนและการปฏิบัติงานในหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
3) นักเรียนได้รับการจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ
7. ปัจจัยความสำเร็จ
ยุทธศาสตร์สำคัญในการดำเนินการนิเทศภายใน คือ การมีส่วนร่วมและการทำงานอย่างเป็นระบบ
การมีส่วนร่วม
1) การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้นิเทศกับผู้รับการนิเทศ
2) การสร้างเจตคติที่ดีต่อการนิเทศ
3) การกำหนดเป้าหมาย/ผลสำเร็จร่วมกัน
4) การพิจารณาบุคลากร/คณะบุคลากรร่วมรับผิดชอบ
5) การพิจารณา/หาวิธีการดำเนินงานร่วมกันเพื่อสู่เป้าหมายที่ต้องการ
6) การหาวิธีการเสริมแรง จูงใจ ให้รางวัล
7) การกำหนดแนวทางการนิเทศภายในติดตามประเมินผลการทำงานร่วมกัน
การทำงานอย่างเป็นระบบ
1) วิเคราะห์ปัญหาความต้องการจำเป็น
2) วิเคราะห์ทางเลือกในการแก้ปัญหา/พัฒนา
3) เลือกทางเลือกที่เหมาะสมและวางแผน
4) ดำเนินการตามแผน
5) ประเมินผลการดำเนินงาน
8. บทเรียนที่ได้รับ
แนวคิดในการปฏิบัติงานของผู้นิเทศ
ผู้บริหารสถานศึกษาและคณะกรรมการนิเทศภายในโรงเรียนควรเข้าใจและตระหนักเกี่ยวกับการนิเทศภายในโรงเรียน ดังนี้
1. การเริ่มต้นจัดกิจกรรมการนิเทศภายในโรงเรียนในระยะแรกควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องเผชิญหน้ากัน เช่น การสังเกตการณ์สอน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเกิดความขัดแย้งได้ง่าย ควรเลือกกิจกรรที่สร้างความคุ้นเคย เช่น การให้คำปรึกษาหารือ การศึกษาเอกสารทางวิชาการหรือการศึกษาดูงาน เมื่อครูคุ้นเคยกับการนิเทศภายในโรงเรียน และมีความพร้อมจึงใช้กิจกรรมสังเกตการสอน
2. ความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การนิเทศภายในโรงเรียนประสบความสำเร็จ การใช้กระบวนการกลุ่มดำเนินงานจะทำให้ได้ผลดีเป็นอย่างมาก
3. กิจกรรมที่ใช้ในการนิเทศ ควรตอบสนองต่อปัญหา ซึ่งต้องร่วมกันพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยผลที่เกิดจากการแก้ปัญหา ให้เน้นการพัฒนาบุคลากรและพัฒนางาน
4. คณะกรรมการนิเทศ ควรศึกษาหาความรู้และประสบการณ์ เพื่อนำมาใช้ในการนิเทศครูในสถานศึกษา
5. สร้างศรัทธาและความเข้าใจอันดีกับผู้รับการนิเทศ
บทบาทของผู้รับการนิเทศ
การนิเทศภายในโรงเรียนจะประสบผลสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อผู้รับการนิเทศจะต้องให้ความร่วมมือในการดำเนินการนิเทศ ดังนี้
1. ร่วมกิจกรรมในการเก็บรวบรวมข้อมูล และการจัดทำแผนการนิเทศภายในโรงเรียน
2. นำแนวทางที่ได้รับจากการนิเทศไปแก้ไขปัญหาหรือพัฒนางาน
3. เสนอปัญหาต่อผู้นิเทศ เมื่อพบปัญหาระหว่างการปฏิบัติงานเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข
4. ให้ความร่วมมือในการประเมินผลการนิเทศ
9. การเผยแพร่ และการได้รับการยอมรับ (รางวัลที่ได้รับ)
แนวทางการพัฒนาบุคลากรด้วยกระบวนการนิเทศแบบ PIDRE ได้เสนอเผยแพร่สู่การปฏิบัติในระดับสถานศึกษาปรากฏในบันทึกการประชุม
10. การขยายผลต่อยอด หรือประยุกต์ใช้ผลงาน นวัตกรรมหรือแนวปฏิบัติ
การพัฒนาบุคลากรด้วยกระบวนการนิเทศแบบ PIDRE สามารถนำไปใช้นิเทศ กำกับ ติดตามการดำเนินงานทั้งด้านบริหารวิชาการ บริหารบุคคล บริหารงบประมาณ และบริหารทั่วไป โดยยุทธศาสตร์สำคัญในการดำเนินการนิเทศภายใน คือ การมีส่วนร่วมและการทำงานอย่างเป็นระบบ