ผู้เขียน นายสรายุทธ์ เพ็งวัน ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด กำแพงเพชร
ปีการศึกษา 2565
สถานศึกษา ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดกำแพงเพชร
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการด้านการบริหารจัดการหน่วยบริการประจำอำเภอ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดกำแพงเพชร 2) ศึกษาและจัดทำแนวทางการบริหารจัดการหน่วยบริการประจำอำเภอของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดกำแพงเพชร วิธีการดำเนินศึกษาออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการด้านการบริหารจัดการหน่วยบริการประจำอำเภอ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดกำแพงเพชร ขั้นตอนที่ 2 การศึกษาแนวทางการบริหารจัดการหน่วยบริการประจำอำเภอของศูนย์การศึกษาพิเศษ ที่มีการปฏิบัติที่ดี ขั้นตอนที่ 3 การจัดทำแนวทางการบริหารจัดการหน่วยบริการประจำอำเภอ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดกำแพงเพชร กลุ่มเป้าหมายใช้ในการศึกษาครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่มดังนี้กลุ่มเป้าหมายที่ 1. ได้แก่ กลุ่มผู้บริหารของหน่วยบริการประจำอำเภอ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดกำแพงเพชร ครูและบุคลากร และผู้ปกครองนักเรียน รวมทั้งหมด 18 คน ใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างและวิเคราะห์เชิงเนื้อหา กลุ่มเป้าหมายที่ 2. ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน ที่ได้จากวิธีการเลือกแบบเจาะจง ใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึก และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการสรุปแบบอุปนัย ผลการศึกษาพบว่า
1. สภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการด้านการบริหารจัดการหน่วยบริการประจำอำเภอ ของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดกำแพงเพชร สภาพปัญหาในการบริหารจัดการทั้ง 4 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านบริหารงานวิชาการ บุคลากรขาดองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการศึกษาพิเศษ ขาดความรู้ในการผลิตสื่อภูมิปัญญาขาดการบันทึกและการจัดเก็บข้อมูลการให้บริการ 2. ด้านบริหารแผนงานและงบประมาณ ไม่มีการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีสู่การปฏิบัติ และขาดระบบจัดเก็บวัสดุและครุภัณฑ์
3. ด้านบริหารงานทั่วไป สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการจัดการศึกษา ขาดการประชาสัมพันธ์ที่หลากหลาย ขาดความร่วมมือจากชุมชนและภาคีเครือข่ายและขาดแหล่งเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกหน่วยบริการ 4. ด้านบริหารงานบุคคล บุคลากรไม่เพียงพอต่อการดูแลนักเรียนในหน่วยบริการ และบุคลากรไม่มีการพัฒนาตนเอง
2. แนวทางการบริหารจัดการหน่วยบริการประจำอำเภอของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดกำแพงเพชร พบว่า 1.ควรฝึกอบรมบุคลากรและผู้ปกครองให้เกิดองค์ความรู้ด้านการศึกษาพิเศษ มีโครงการผลิตสื่อหรือจัดสื่อสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม จัดทำวิจัยในชั้นเรียน 2.กลุ่มบริหารแผนงานและงบประมาณ ควรมีการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีสู่การปฏิบัติ จัดทำระบบคุมวัสดุและครุภัณฑ์ 3.กลุ่มบริหารงานทั่วไป ควรจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการจัดการศึกษา ให้มีความเหมาะสม ปลอดภัย
มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่หลากหลาย ประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ภาคเอกชน ชุมชน เพื่อร่วมพัฒนาหน่วยบริการประจำอำเภอและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกหน่วยบริการ 4. กลุ่มบริหารงานบุคคล วางแผนจัดอัตรากำลังของครู อบรมพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ด้านการศึกษาพิเศษและนิเทศ ติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยมี 4 องค์ประกอบ คือ 1. ปัจจัยนำเข้า ประกอบด้วย การบริหารงานหลัก 4 งาน คือ งานวิชาการ งานแผนงานและงบประมาณ งานบริหารทั่วไป และงานบริหารบุคคล
2. กระบวนการ ใช้วงจรการบริหารคุณภาพ 4 ขั้นตอน คือ การวางแผน การลงมือปฏิบัติ การตรวจสอบ และการปรับปรุง 3) ด้านผลผลิต นักเรียนมีทักษะที่ดีขึ้นตามศักยภาพ 4) ด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย การสร้างเครือข่ายและการประสานงาน
คำสำคัญ : การบริหารจัดการหน่วยบริการประจำอำเภอ, ศูนย์การศึกษาพิเศษ