บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาวิทยาศาสตร์โดยใช้การจัดการเรียนการสอนรูปแบบเชิงรุก (Active learning) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เรื่อง พลังงานความร้อน โรงเรียนหนองบัวไชยวารพิทยาสรรพ์ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 กลุ่มทดลองเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 26 คน โดยได้รับการจัดการเรียนการสอน ตามรูปแบบเชิงรุก (Active learning) ซึ่งจัดกิจกรรมการเรียนตามแผนการเรียนรู้ที่จัดทำขึ้น หน่วยการเรียนรู้ เรื่อง พลังงานความร้อน จำนวนทั้งหมด 9 แผน โดยนักเรียนจะได้ทำใบกิจกรรมระหว่างเรียน และทำแบบทดสอบหลังเรียน หลังจากเรียนจบหน่วยการเรียนรู้นี้ แล้วมีการวัดและประเมินผลเชิงปริมาณจากคะแนนที่นักเรียนทำได้จากแต่ละใบกิจกรรมและแบบทดสอบ
ผลการศึกษาปรากฏว่า การจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบเชิงรุก (Active learning) นักเรียนมีผลคะแนนจากการทำกิจกรรมแต่ละแผนการเรียนรู้เพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งในแผนการเรียนการสอนแรกๆ นักเรียนมีคะแนนการทำใบกิจกรรมน้อยและคะแนนเพิ่มขึ้นตามลำดับ
เห็นได้ว่า นักเรียนมีคะแนนการทำใบกิจกรรม สูงสุด 3 แผน ได้แก่ แผนที่ 8 แผนที่ 9 และแผนที่ 10 โดยมีคะแนนเฉลี่ย 8.12 คะแนน 8.31 คะแนน และ 8.65 คะแนน ตามลำดับ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ได้ว่า แผนการจัดการเรียนการสอน สูงสุด 3 อันดับแรก มีคะแนนจากการทำใบกิจกรรม ร้อยละ 81.15 ร้อยละ83.08 และร้อยละ 86.54 ตามลำดับและนักเรียนมีคะแนนการทำแบบทดสอบ เฉลี่ย 7.23 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 72.31 จากคะแนนเต็มทั้งหมด
บทที่ 1
บทนำ
ความสำคัญและที่มา
จากการจัดอันดับการแข่งขันทางการศึกษาของเวิลด์อีโคโนมิก ฟอรัม ปีล่าสุดพบว่า คุณภาพการศึกษาของประเทศไทยนั้นตกอันดับลงเป็นอย่างมาก โดยเป็นอันดับ 8 ของกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์สาเหตุของการศึกษาไทยที่ทำให้คุณภาพการเรียนไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนที่ผ่านมาเน้นท่องจำแต่ไม่นำไปใช้ ครูผู้สอนไม่เอาใจใส่นักเรียน เน้นการทำผลงาน ทำงานเอกสารต่างๆ ซึ่งทำให้คุณภาพของการจัดการเรียนการสอนลดคุณภาพลง อีกทั้งวัฒนธรรมการศึกษาของไทยที่มีมาแต่ดั้งเดิมคือ การเรียนแบบท่องเพื่อให้จดจำเนื้อหาแล้วนำมาใช้เพียงเพื่อให้สอบผ่าน ไม่ได้เรียนแบบลงมือทำปฏิบัติ เรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตจริง ไม่มีการวิเคราะห์และประยุกต์ให้แก้ปัญหาจริงได้ ทำให้ผู้เรียนเน้นเรียนแบบจำได้เพียงหลักการ ตัวหนังสือ แต่เมื่อเกิดปัญหาจริงนั้นไม่สามารถแก้ไขได้
การจัดการศึกษาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำพานักเรียนหลุดออกจากกรอบการศึกษาแบบเดิมที่เน้นเพียงท่องจำนำไปทำข้อสอบมาเป็นเรียนรู้จากสิ่งที่พบเจอจริง ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตหรือจากประสบการณ์ปัญหาที่นักเรียนสนใจอยากจะหาคำตอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกับความสนใจของนักเรียนมากกว่าทำให้นักเรียนมีแรงจูงใจอยากแก้ปัญหามากยิ่งขึ้น และการจัดการศึกษาที่ผู้วิจัยได้ศึกษา เป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง นักเรียนมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติที่หลากหลายรูปแบบ เช่น การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การระดมความคิด และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นต้น โดยกิจกรรมที่นำมาใช้ควรช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การสื่อสาร/นำเสนอ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสม บทบาทของนักเรียนนอกจากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมแล้ว ยังต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนและนักเรียนกับนักเรียนด้วยกัน ผู้สอนลดบทบาทในการถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เรียนในลักษณะการบรรยาย และเพิ่มบทบาท ในการกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ในระหว่างการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมใน การเรียนรู้ ซึ่งการจัดการเรียนรู้นี้ เรียกว่า การจัดการเรียนการสอนรูปแบบเชิงรุก (Active leaning) นั้นเอง
ดังนั้น ครูผู้สอนจึงมีความสนใจจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบเชิงรุก (Active leaning) เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เมื่อได้เรียนรู้ด้วยการได้ฝึกปฏิบัติจริง ได้มีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์ในการทำกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติที่หลากหลายรูปแบบ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันกับนักเรียนคนอื่นๆ ทั้งชั้นเรียน และครูผู้สอนทำหน้าที่เป็นคนที่คอยสนับสนุน เตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนของนักเรียน อำนวยเครื่องมือการเรียน และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศประกอบการเรียนอย่างเหมาะสม เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้าใจการเรียนคิดแก้ปัญหาในชีวิตจริงได้อย่างรอบคอบ ถูกต้องและเหมาะสม เป็นนักเรียนที่มีคุณภาพในกาเรียนที่ดีต่อไป
จุดมุ่งหมาย
เพื่อการศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง พลังงานความร้อน โดยใช้การจัดการเรียนการสอนรูปแบบเชิงรุก (Active learning) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ตัวแปรที่ศึกษา
ตัวแปรต้น กระบวนการจัดการเรียนรู้รูปแบบเชิงรุก (Active learning)
ตัวแปรตาม ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง พลังงานความร้อน โดยใช้
การจัดการเรียนการสอนรูปแบบเชิงรุก (Active learning)
กรอบแนวคิดในการวิจัย
กระบวนการจัดการเรียนรู้
รูปแบบเชิงรุก (Active learning)
ขอบเขตของการวิจัย
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 26 คน
โรงเรียนหนองบัวไชยวารพิทยาสรรพ์
ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติ สร้างความรู้ด้วยตนเอง
สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ