ชื่อเรื่อง : การประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม สำหรับครูโรงเรียนวัดมะปราง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยนาทโดยใช้รูปแบบ
การประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model)
ชื่อผู้ประเมิน : นายธนาสันต์ จำนงค์
ปีที่ประเมิน : ปีการศึกษา 2562
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1. เพื่อประเมินบริบทของโครงการ (Context Evaluation) 2. เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ (Input Evaluation) 3. เพื่อประเมินกระบวนการดำเนินงานของโครงการ (Process Evaluation) 4. เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation) และ 5. เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมสำหรับครูโรงเรียนวัดมะปราง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยนาท กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ จำนวนทั้งสิ้น 89 คน ประกอบด้วย ครูผู้สอนจำนวน 4 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ขนาดของกลุ่มตัวอย่างของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ใช้ตารางของ เครจซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan, 1970: 608) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 39 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 39 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) รูปแบบที่ใช้ในการประเมิน ใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ตามแนวคิดของแดเนียล แอล สตัฟเฟิลบีม (Daniel L. Stufflebeam, 1983: 196) โดยกำหนดประเด็นการประเมิน 4 ด้าน ได้แก่ การประเมินด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ครั้งนี้ เป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) 5 ระดับ จำนวน 7 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 แบบสอบถามการประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) ของโครงการ ฉบับที่ 2 แบบสอบถามการประเมิน
ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ของโครงการ ฉบับที่ 3 แบบสอบถามการประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) ของโครงการ ฉบับที่ 4 - 7 แบบสอบถามการประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) ของโครงการ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้วิธีการคำนวณหาค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ผลการประเมินโดยสรุป ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) เกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องดำเนินโครงการ ความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ของโครงการ และความเป็นไปได้ของโครงการ โดยภาพรวม พบว่า มีระดับความคิดเห็น อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยครูผู้สอนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความเห็นว่า วัตถุประสงค์ของโครงการมีความชัดเจน สอดคล้องกับวิธีดำเนินการ กำหนดเป้าหมาย วิธีดำเนินงานเหมาะสมสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการกำหนดวัตถุประสงค์และวิธีดำเนินโครงการ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) เกี่ยวกับความเหมาะสม ความเพียงพอของปัจจัยต่าง ๆ เช่น งบประมาณบุคลากร เอกสาร วัสดุ อุปกรณ์ สถานที่ ความเพียงพอด้าน การบริหารจัดการของโครงการ โดยภาพรวมพบว่า มีระดับความคิดเห็น อยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยครูผู้สอนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความเห็นว่า กิจกรรมของโครงการ มีความเหมาะสมกับงบประมาณ กิจกรรมของโครงการมีความเหมาะสมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการจัดกิจกรรมเพียงพอ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) เกี่ยวกับการวางแผน การดำเนินงาน (Plan) การดำเนินการจัดกิจกรรมตามโครงการ (Do) การติดตามและประเมินผล (Check) และการนำผลการประเมินไปปรับปรุงพัฒนา (Action) โดยภาพรวม พบว่า มีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยครูผู้สอนมีความเห็นว่า โรงเรียนได้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม สำหรับครู เป็นไปตามแผนปฏิบัติการที่วางไว้ และครูเข้าใจขั้นตอนและวิธีดำเนินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม สำหรับครู
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) ของโครงการสรุปได้ ดังนี้
4.1 ผลการประเมินคุณธรรม จริยธรรมสำหรับครู โรงเรียนวัดมะปราง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยนาท โดยภาพรวม พบว่า ครูมีคุณธรรม จริยธรรม อยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ =4.55, S.D. = 0.54) ผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยครูมีคุณธรรม จริยธรรมด้านความรับผิดชอบมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านความมีวินัย ด้านความประหยัด และด้านความซื่อสัตย์ ตามลำดับ
4.2 ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม สำหรับครู โรงเรียนวัดมะปราง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยนาท สรุปได้ ดังนี้
4.2.1 ความพึงพอใจที่มีต่อโครงการ ของครูผู้สอน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวม มีความพึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุด
(x̄=4.51, S.D. = 0.50) ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.2.2 ความพึงพอใจที่มีต่อโครงการ ของนักเรียน โดยภาพรวม มีความพึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุด (x̄=4.54, S.D. = 0.52) ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.2.3 ความพึงพอใจที่มีต่อโครงการ ของผู้ปกครองนักเรียน โดยภาพรวมมีความพึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุด (x̄=4.50, S.D. = 0.50) ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.3 ผลที่ได้รับหลังจากการดำเนินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม สำหรับครูโรงเรียนวัดมะปราง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยนาท พบว่า โรงเรียนวัดมะปรางได้รับรางวัล การยกย่อง ชมเชย ซึ่งแสดงถึงการดำเนินโครงการที่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ส่งผลให้โรงเรียนได้รับรางวัลต่อเนื่อง
5. ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการ
จากการประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม สำหรับครูโรงเรียนวัดมะปราง พบปัญหาและอุปสรรค ด้านกระบวนการ ควรเพิ่มกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยในการพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ของครูในโรงเรียน ข้อเสนอแนะ ในการดำเนินงานตามโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม สำหรับครู ควรจัดประชุมอย่างสม่ำเสมอเพื่อหารูปแบบให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติเข้าใจตรงกัน ผู้บริหารระดับต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานอย่างจริงจัง โรงเรียนควรจัดกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน วัด โรงเรียนและชุมชน สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์อย่างต่อเนื่อง และควรมีการประชาสัมพันธ์เรื่องการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมในชุมชนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง