ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านดอยสะโง๊ะ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3
ผู้รายงาน ดำรงค์ ปิกจุมปู
ปีที่จัดทำ 2564-2565
บทสรุปผู้บริหาร
รายงานการประเมินโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้าด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านดอยสะโง๊ะ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 กลุ่มประชากรที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ ครู จำนวน 6 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 7 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 40 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 49 คน รวมจำนวน 102 คน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและร่วมปฏิบัติกิจกรรม ได้มาโดยการคัดเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ แบบประเมิน จำนวน 6 ฉบับ วิเคราะห์การประเมินโครงการโดยใช้สถิติ คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบกับเกณฑ์เฉลี่ย
ผลการประเมินโครงการ สรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบท โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน ที่กำหนดไว้ โดยรายการที่มีระดับความสอดคล้องสูงสุด คือ (1) วัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับเป้าหมายและตัวชี้วัด (2) วัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับกิจกรรมของโครงการ (3) วัตถุประสงค์มุ่งพัฒนานักเรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ และ (4) ผลที่ได้รับจากโครงการมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ มีความสอดคล้องอยู่ในระดับมากที่สุด
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการ ด้านบุคลากร ด้านสื่อและแหล่งเรียนรู้ และด้านงบประมาณ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ตามลำดับ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ โดยรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ เมื่อพิจารณากระบวนการแต่ละด้าน พบว่า ทุกด้านมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด โดยด้านที่มีระดับการปฏิบัติสูงสุด ได้แก่ ด้านการดำเนินงาน (Do) รองลงมา คือ ด้านการวางแผน (Plan) ด้านการตรวจสอบและติดตาม (Check) และด้านการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา (Act) ตามลำดับ
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต โดยรวมผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ ซึ่งผลการประเมินสรุปได้ดังนี้
4.1 สรุปผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ข้อที่ 5 อยู่อย่างพอเพียง ปีการศึกษา 2564 พบว่า นักเรียนจำนวนทั้งหมด 54 คน มีผลคะแนนในระดับคุณภาพดีและดีเยี่ยม คิดเป็นร้อยละ 96.43 ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ และปีการศึกษา 2565 (ภาคเรียนที่ 1) นักเรียนจำนวนทั้งหมด 46 คน มีผลคะแนนในระดับดีและดีเยี่ยม คิดเป็นร้อยละ 93.88 ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
4.2 ครูมีความคิดเห็นต่อด้านผลผลิตของโครงการ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด ทุกรายการมีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด เรียงตามลำดับความคิดเห็นค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย ดังนี้ 1) ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 2) ความรู้และทักษะปฏิบัติการปลูกพืชผักสวนครัวในโรงเรียน 3) ความรู้และทักษะปฏิบัติกิจกรรมสหกรณ์โรงเรียน 4) ความรู้และทักษะปฏิบัติกิจกรรมปลูกดอกเก๊กฮวยในกระถาง 5) ความรู้และทักษะปฏิบัติการปลูกพืชผักสวนครัวในโรงเรียน และ 6) ความรู้และทักษะปฏิบัติกิจกรรมเลี้ยงกบ ตามลำดับ
4.3 ความพึงพอใจต่อโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านดอยสะโง๊ะ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ โดยครู คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียน มีความพึงพอใจ ต่อโครงการด้านความรู้และทักษะการเรียนรู้ ด้านด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และด้านสำเร็จ จากการดำเนินงานโครงการ อยู่ในระดับมากที่สุด ตามลำดับ และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อโครงการโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีความพึงพอใจมากที่สุด คือ นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการร่วมทำกิจกรรม