ชื่อรายงานวิจัย : การพัฒนากระบวนการนิเทศ SAKURA MODEL เพื่อพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายใน
สถานศึกษาของโรงเรียนในศูนย์เครือข่ายโกตาบารู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ประถมศึกษายะลา เขต 1
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวซากูรา หลงแซ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ
หน่วยงาน : สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 1
ปีที่วิจัย : 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบความรู้ความเข้าใจของผู้บริหารและครูเกี่ยวกับ การดำเนินงานตามระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนในศูนย์เครือข่ายโกตาบารูก่อนและหลังการนิเทศโดยใช้กระบวนการนิเทศ SAKURA MODEL 2) เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการดำเนินงานตามระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนในศูนย์เครือข่ายโกตาบารูก่อนและหลังการนิเทศโดยใช้กระบวนการนิเทศ SAKURA MODEL 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้บริหารและครูผู้สอนที่มีต่อการนิเทศโดยใช้กระบวนการนิเทศ SAKURA MODEL กลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนในศูนย์เครือข่ายโกตาบารู ประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 8 คน ครูผู้รับผิดชอบงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาระดับปฐมวัย จำนวน 16 คน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 16 คน รวมทั้งสิ้น 40 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย คู่มือพัฒนาการนิเทศเพื่อพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาโดยใช้กระบวนการนิเทศ SAKURA MODEL คู่มือการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561 ปีการศึกษา 2564 แบบทดสอบวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานตามระบบประกัน แบบประเมินประสิทธิภาพ การดำเนินงานตามระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย (mean) และร้อยละ (percentage)
ผลการวิจัยพบว่า
1) ผู้บริหารและครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานตามระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาหลังการนิเทศโดยใช้กระบวนการนิเทศ SAKURA MODEL สูงกว่าก่อนการนิเทศ โดยมีคะแนนเฉลี่ยก่อนการนิเทศเท่ากับ 22.55 คิดเป็นร้อยละ 75.17 และคะแนนเฉลี่ยหลังการนิเทศเท่ากับ 27.03 คิดเป็นร้อยละ 90.10 มีค่าพัฒนาเท่ากับ 4.48 คิดเป็นร้อยละ 14.93
2) ประสิทธิภาพการดำเนินงานตามระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาระดับปฐมวัยของโรงเรียน ในศูนย์เครือข่ายโกตาบารู หลังการนิเทศโดยใช้กระบวนการนิเทศ SAKURA MODEL โดยภาพรวม 6 องค์ประกอบ สูงกว่าก่อนการนิเทศ โดยภาพรวมมีคะแนนเฉลี่ยก่อนการนิเทศเท่ากับ 12.35 คิดเป็นร้อยละ 68.61 และคะแนนเฉลี่ยหลังการนิเทศเท่ากับ 16.07 คิดเป็นร้อยละ 89.27 มีค่าพัฒนาเท่ากับ 3.72 คิดเป็นร้อยละ 20.66 โดยองค์ประกอบที่มีค่าพัฒนาหลังการนิเทศสูงที่สุดคือ องค์ประกอบที่ 4 ประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ค่าพัฒนาเท่ากับ 4.50 คิดเป็นร้อยละ 25.00 รองลงมาคือ องค์ประกอบที่ 5 ติดตามผลการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา ค่าพัฒนาเท่ากับ 4.37 คิดเป็นร้อยละ 24.27
ประสิทธิภาพการดำเนินงานตามระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของโรงเรียนในศูนย์เครือข่ายโกตาบารู หลังการนิเทศโดยใช้กระบวนการนิเทศ SAKURA MODEL โดยภาพรวม 6 องค์ประกอบ สูงกว่าก่อนการนิเทศ โดยภาพรวมมีคะแนนเฉลี่ยก่อนการนิเทศเท่ากับ 12.73 คิดเป็นร้อยละ 70.72 และคะแนนเฉลี่ยหลังการนิเทศเท่ากับ 16.71 คิดเป็นร้อยละ 92.83 ค่าพัฒนาเท่ากับ 3.98 คิดเป็นร้อยละ 22.11 โดยองค์ประกอบที่มีค่าพัฒนาหลังการนิเทศสูงที่สุดคือ องค์ประกอบที่ 1 การกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา ค่าพัฒนาเท่ากับ 5.22 คิดเป็นร้อยละ 29.00 รองลงมาคือ องค์ประกอบที่ 5 การติดตามผลการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา ค่าพัฒนาเท่ากับ 5.00 คิดเป็นร้อยละ 27.77
3) ความพึงพอใจของผู้บริหารและครูที่มีต่อการนิเทศโดยใช้กระบวนการนิเทศ SAKURA MODEL โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 4.68 เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า ผู้บริหารและครูมีความ พึงพอใจเกี่ยวกับการพัฒนาผู้บริหารและครูให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาสูงที่สุดอยู่ในระดับมากที่สุด คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 4.92 และความพึงพอใจ ในระดับมากเกี่ยวกับการศึกษาสภาพปัญหาในการดำเนินตามระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาที่แตกต่างกันตามสภาพบริบทของโรงเรียนในศูนย์เครือข่ายโกตาบารู คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 4.42
คำสำคัญ การพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา