บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ของนักเรียนโรงเรียนวัดศรีสุนทร (มิตรภาพ 15) ปีการศึกษา 2564 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบทของโครงการตามตัวชี้วัดระดับความต้องการจำเป็น และระดับความเป็นไปได้ของโครงการ ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ ตามตัวชี้วัดร้อยละหรือจำนวนบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโครงการ และร้อยละของงบประมาณ ประเมินกระบวนการของโครงการตามตัวชี้วัดร้อยละของกิจกรรมที่ดำเนินการ และ ร้อยละของการติดตามโครงการ และประเมินผลผลิตของโครงการตามตัวชี้วัดความรู้ความเข้าใจเรื่อง คุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ตัวชี้วัดคุณลักษณะอันพึงประสงค์เพิ่มขึ้น และตัวชี้วัดความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องที่มีต่อโครงการ โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ครู/กรรมการสถานศึกษา จำนวน 39 คน นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 167 คน และผู้ปกครองของนักเรียนในระดับชั้นดังกล่าว รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 294 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบไปด้วย แบบสอบถาม จำนวน 4 ฉบับ แบบทดสอบ จำนวน 1 ฉบับ แบบสัมภาษณ์ จำนวน 3 ฉบับ และแบบบันทึกข้อมูล จำนวน 2 ฉบับ รวมทั้งสิ้น จำนวน 10 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติพื้นฐาน ซึ่งได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติอ้างอิงใช้ t-test แบบไม่อิสระ ซึ่งผลการประเมินโครงการสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมิน โดยภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายประเด็น พบว่า ตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็น เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ บริบท และผลผลิต ผลการประเมินรายประเด็นและตัวชี้วัด สรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินบริบท พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 2 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ตัวชี้วัดระดับความต้องการจำเป็นผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนตัวชี้วัดระดับความเป็นไปได้ของโครงการผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้า พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 2 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด คือ ร้อยละหรือจำนวนบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโครงการ คิดเป็นร้อยละ 100 และร้อยละของงบประมาณ คิดเป็นร้อยละ 100
3. ผลการประเมินกระบวนการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 2 ตัวชี้วัดเมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด คือ ร้อยละของกิจกรรมที่ดำเนินการ คิดเป็นร้อยละ 100 และร้อยละของการติดตามโครงการอยู่ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 100
4. ผลการประเมินผลผลิต พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมิน คือ ความรู้ ความเข้าใจเรื่องคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน หลังจากเข้าร่วมโครงการมีคะแนนเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง พบว่า มีความเหมาะสมและผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณารายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมิน
ข้อเสนอแนะ
1. การประเมินโครงการโดยภาพรวม ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็นและทุกตัวชี้วัด จึงควรดำเนินโครงการนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้บริหาร ครู และครูผู้รับผิดชอบ ควรนำผลการประเมินครั้งนี้ไปปรับปรุงและพัฒนาการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการให้มีความหลากหลาย น่าสนใจยิ่งขึ้น
2. จากผลการประเมินที่พบว่า ประเด็นด้านบริบท ตัวชี้วัดระดับความต้องการจำเป็น รายการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน และสังคม ในการแก้ไขปัญหาด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนมีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด ดังนั้น ควรสร้างเครือข่ายให้ผู้ปกครอง ชุมชน และสังคมเข้ามามีบทบาทในการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนมากยิ่งขึ้น และได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน